ทริปสบายๆ ตะลุยสวนผลไม้ ตามหาซาไก บนเส้นทางมะนัง-ควนกาหลง จ.สตูล
หลังจากได้ทำความรู้จักและทักทายกับชมรมน้องใหม่อย่างตะรุเตาออฟโรด จ.สตูล กันแบบพอหอมปากหอมคอแล้ว แน่นอนว่าผมคงไม่ได้แค่เดินทางไกลเกือบ 1,000 กิโลเมตร เพื่อแนะนำชมรมเพียงอย่างเดียว เพราะทางตะรุเตาออฟโรด ยังได้ชักชวนเพื่อนเก่าแก่อย่าง BOOMERANG OFF ROAD TEAM บ้านใกล้เรือนเคียง ไปพิสูจน์สมรรถนะของรถและคน บนเส้นทางมะนัง-ควนกาหลงอีกด้วย
นานมากแล้ว ที่ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสท่องป่าฝนของปักษ์ใต้อย่างจริงๆ จังๆ แม้ว่าที่ผ่านมานั้น จะลงมาภาคใต้อยู่บ่อยครั้งก็ตามที แต่ไม่ว่าจะกี่เดือน กี่ปี ต้องยอมรับว่า ป่าใต้ยังมีมนต์ขลังและมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย ป่ายังเป็นป่า ระบบนิเวศซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์ ป่าส่วนใหญ่ก็เป็นป่าดิบชื้น(tropical rain forest) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมที่พัดผ่านทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันโดยตรง จึงเขียวครึ้มตลอดทั้งปี ต้นไม้ใหญ่จะไม่ผลัดใบเพื่อคายน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากนั่นเอง
ทริปนี้จึงเป็นอีกทริปหนึ่งที่เจ้าบ้านจัดโปรแกรมเอาไว้อย่างลงตัว ทั้งท่องป่า ตะลุยสายน้ำ และพาเที่ยวชมธรรมชาติอันงดงามของสตูล คุ้มค่ากับการเดินทางไกลลงมาภาคใต้จริงๆ
ผมขับรถแบบฉายเดียวออกเดินทางจากรุงเทพฯหัวรุ่งของเช้ามืดวันศุกร์ต้นเดือนกรกฎาคม ถึง จ.ตรังเอาเมื่อบ่ายแก่ๆ จากนั้นก็สมทบกับขบวนรถของ BOOMERANG OFF ROAD TEAM ซึ่งมี บุญชู ชูเอน ประธานชมรมฯ เก็บข้าวของเตรียมตัวรออยู่ก่อนแล้ว ขับต่อไปอีกราว 120 กิโลเมตร ไปยังที่พักแรมแบบโฮมสเตย์ที่ อาร์ เอส ซึ่งตั้งอยู่ติดกับคลองลำโลน จุดล่องเรืออันขึ้นชื่อของสตูล ใกล้กับน้ำตกวังสายทองและถ้ำเจ็ดคต ใน ต.น้ำผุด อ.มะนัง ซึ่งชมรมตะรุเตาออฟโรด นำโดย สิงหา เพชรรักษ์ และเพื่อนๆ ที่คุ้นเคยกันดีได้ตั้งโต๊ะทานอาหารรออยู่ก่อนแล้ว
เจ้าบ้านบอกว่า สตูล แม้จะมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ แต่ปัจจุบันมีเจ้าของเกือบทั้งหมด เป็นผลพวงมาตั้งแต่ครั้ง ผกค.มีการเคลื่อนไหวในแถบภาคใต้ นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง พคท.พัทลุง ตรัง และสตูล เรียกว่า “คณะกรรมการจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล (กจ.พท.ตร.สต.) จนในปี พ.ศ.2517 กองทัพบกได้จัดตั้งกองทัพภาคที่ 4 ขึ้น กวาดล้างและลดอำนาจของผู้มีอิทธิพล เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลงเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำหน้าการทหาร เชิญชวนให้ผู้หลงผิดมอบตัว เหตุการณ์จึงยุติลงอย่างสิ้นเชิงในปี 2528
สิ่งที่ตามมาก็คือ ทางป่าไม้ได้เพิกถอนผืนที่ป่าบางส่วนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ให้เป็นที่ทำกินในลักษณะของนิคมพัฒนาตนเองของภาคใต้ ส่งผลให้ป่าไม้ถูกโค่นล้างถางพง กลายเป็นสวนปาล์ม สวนยางพารา และสวนผลไม้ของชาวบ้านไป เส้นทางออฟโรดจริงๆ ที่หลงเหลือให้ท่องเที่ยวในย่านนี้นอกเหนือจากในเขตป่าอนุรักษ์ ที่เหลือก็คือ ทางเข้าเรือกสวนของชาวบ้านแทบทั้งสิ้น
หลังจากได้พูดคุยกันแบบหอมปากหอมคอแล้ว ผมขอปลีกตัวไปพักผ่อนก่อนคนอื่นๆ เก็บแรงเอาไว้ลุยเส้นทางออฟโรดในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการขับรถมาทั้งวัน
เช้าวันใหม่หลังสมาชิกได้จัดเตรียมเสบียงอาหารกลางวันกันเรียบร้อยก็เตรียมตัวออกเดินทางทันที ด้วยรถทั้งหมด 8 คันที่พร้อมเดินทาง ส่วนรถที่เหลือจอดทิ้งไว้ที่พัก เราออกเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 5025 ไปทางบ้านเหนือคลอง มุ่งหน้าสู่ ต.ปาล์มพัฒนา ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเศษๆ ก็มาถึงยังบ้านผังปาล์ม 7
“ถึงปากทางเข้าทางออฟโรดแล้ว เดี๋ยวรอคนนำทางก่อน…” สิงหา เพชรรักษ์ รองประธานชมรมฯ บอก ก่อนกล่าวต่อไปว่า “ทางที่เราจะเดินทางไปนี้ ต้องผ่านสวนของชาวบ้าน ทะลุไปยังบ้านห้วยเงิน ปกติก็ไม่ค่อยมีชาวบ้านใช้สัญจรเท่าไร เพราะมันเป็นทางขึ้น-ลงเขา ที่ค่อนข้างลื่น ต้นไม้ใหญ่ก็มักจะล้มขวางทางตลอดหากว่ามีพายุฝน และลมแรง จากนั้นเราจะขับต่อไปที่ลานปาล์ม ใน อ.ควนกาหลง วกกลับที่พัก” สิงหา เพชรรักษ์ กล่าวต่อ
เวลาเริ่มเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนเริ่มสายโด่ง หลังคนนำทางมาถึงเราก็เริ่มเคลื่อนตัวผ่านสวนผลไม้ สวนยางและสวนปาล์ม ขนานไปกับลำห้วยน้ำ ( “น้ำ” เป็นชื่อของลำห้วย) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของป่าต้นน้ำของ อ.มะนังและ อ.ละงู ลำห้วยน้ำนี้จะไหลไปสมทบกับลำโลนหรือน้ำตกวังสายทอง ที่บริเวณปากบารา อ.ละงู ออกสู่ทะเลอันดามัน จุดเดียวกับที่นักท่องเที่ยวลงเรือไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตานั่นเอง ทางช่วงแรกเป็นไปแบบสบายๆ เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรกันอยู่เป็นประจำ ผ่านพ้นสักสองกิโลเมตรไปแล้วนั่นแหละ ทางเริ่มไต่ระดับของควนที่สูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ เริ่มมีหลุมมีบ่อโคลนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงบ้านหลังหนึ่งกลางป่า คนนำทางชี้ให้ผมดูพร้อมกับบอกว่า บ้านนี้สามีเป็นคนในพื้นที่ แต่ได้ภรรยาเป็นซาไก มีลูกด้วยกันทั้งหมด 3 คน อพยพจากป่าด้านใน ผมขอให้ขบวนจอดรถชั่วขณะเพื่อขอเข้าไปพูดคุยกับเด็กๆ ที่ยืนมองแบบกล้าๆ กลัวๆ โดยเฉพาะน้องคนเล็กรีบวิ่งหนีไปแอบหลังของแม่ ซึ่งเด็กทั้ง 3 คันนั้น ถอดแบบมาจากแม่ซึ่งเป็นซาไกมาแบบเต็มๆ ทั้งผมที่หยิกหยอง และผิวที่ดำคล้ำ
สตูล เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เรายังสามารถพบเห็นชาวซาไกได้ไม่ยาก ซาไก เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าพันธุ์หนึ่ง อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขา ในภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงมาเลเซีย มีชื่อเรียกหลายชื่อ อาทิ ทั้ง เงาะ เงาะป่า เนื่องจากเส้นผมของซาไกหยิกหยองคล้าย เงาะ ชาวสตูลเรียก ชาวป่า เพราะอาศัยอยู่ตามป่าเขา ชาวไทยมุสลิมแถบ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสเรียก ซาแก ซึ่งแปลว่า แข็งแรง หรือป่าเถื่อน เพราะพวกนี้ชอบอยู่ตามป่า และมีความทรหด อดทน แต่ชาว ไทยพุทธเรียกเพี้ยนไปเป็น ซาไก แต่ซาไกเรียกตัวเองว่า มันนิ แปลว่า มนุษย์ซาไก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์นิกริโต (Nigrito) รูปพรรณสัณฐานของซาไก มีรูปร่างเตี้ย ผิวดำคล้ำ ผมหยิก ขมวดเป็นฝอย จมูกแบนกว้าง ริมฝีปากหนาดำ คิ้วดกหนา นัยน์ตาสีดำเป็นประกาย นิ้วมือนิ้วเท้าโต ชนเผ่าซาไกนี้เป็นพวกที่อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายู ภายหลังชนเผ่าเซมัง
จากบ้านของซาไก เส้นทางเริ่มยากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะป่าเริ่มทึบ แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น ความชื้นสัมพัทธ์จึงค่อนข้างมาก เส้นทางเป็นทางดินคล้ายๆ กับที่เมืองกาญจน์ฯและภาคเหนือ มีสภาพเป็นดินหนังหมูลื่นๆ บางช่วงก็เป็นดินแดงแบบมันปูที่ค่อนข้างลื่น บางช่วงเป็นทางขึ้นควนยาว รถทั้งหมดต้องทิ้งระยะกันพอสมควร ด้วยว่าเกรงจะลื่นไถลมาชนกัน
หลังโยกย้ายส่ายสะโพกกันมาได้สักพักใหญ่ บนเส้นทางที่ลาดชันและลื่น ก็ต้องเจอกับงานช้างทันที เมื่อต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกพายุฝนโถมกระหน่ำก่อนหน้านี้ ล้มลงมาขวางทางแบบถอนรากถอนโคน ลำต้นขนาดใหญ่เกินคนโอบ เกินกำลังของมีดและขวานที่นำติดรถมาเผื่อในกรณีฉุกเฉิน
ทางชมรมตะรุเตาออฟโรดพยายามประสานกับพรรคพวกทางวิทยุสื่อสาร ให้ช่วยนำเลื่อยยนต์ขึ้นมาเป็นการด่วน ระหว่างรอเลื่อยยนต์ โกตุ๊ก หรือ ชำนาญ นักเที่ยวป่าตัวยงของ BOOMERANG OFF ROAD TEAM บอกให้รถนำลองวินช์ขึ้นเขาเบี่ยงหลบโคนต้นไม้ใหญ่ แล้วโรยตัวลงมา ก็น่าจะผ่านไปได้ แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะรถแต่ละคันนั้นเป็นรถกระบะเกือบทั้งหมด การวินช์ขึ้นเขาที่ลาดชันเกือบๆ 90 องศา วินช์ต้องทำงานหนักจนตัดแล้วตัดอีก เนื่องจากล้อหน้าไปยันกับตลิ่งจนรถทำท่าจะพลิกคว่ำ และหากผ่านไปได้จริงๆ คันหนึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง 8 คันก็แปดชั่วโมงมืดพอดี
ผ่านหนึ่งชั่วโมงไปแล้ว ชาวบ้านที่เป็นเพื่อนของคนนำทางก็ควบ MITSUBISHI STRADA ย้อนศรขึ้นมาจากบ้านห้วยเงิน พร้อมกับกุลีกุจอช่วยกันตัดต้นไม้เปิดทาง ใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ไม่นาน ก็เคลื่อนที่เดินหน้าต่อไป ตามทางที่ลื่นๆ เละๆ เช่นเดิม แต่ไม่ค่อยลาดชันเหมือนช่วงแรก เนื่องจากตอนนี้เราขึ้นมาอยู่บนสันเขาแล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาแทนที่ก็คือ บ่อโคลนยาว ใหญ่ แต่ก็ไม่ลึกเท่าไรนัก ทุกคันจึงผ่านมาได้แบบชิลๆ
มีขึ้นก็ต้องมีลง จากสันเขาด้านบนทางค่อยๆ ลาดต่ำลงสู่หุบเขาเบื้องล่างของบ้านคลองเงิน เส้นทางนั้นไม่ค่อยยากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ต้องระวังนั่นก็คือ ต้นไม้ใหญ่ที่ล้มลงมาพาดตลอดเส้นทาง ต้องค่อยๆ นำรถมุดลอดไปแบบฉิวเฉียด ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่เกินคนโอบแทบทั้งสิ้น ยิ่งมองไกลออกไปยิ่งน่าเสียดาย ป่าผืนนี้นับว่าค่อนข้างสมบูรณ์ สังเกตุได้จากไม้ใหญ่แทงเรือนยอดเบียดกันจนแน่นขนัด แต่เชื่อเหลือเกินว่าอีกไม่กี่ปีมันจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มอย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าจะมองไปทางเขาลูกไหนก็มีเจ้าของทั้งหมด และบางเขาเริ่มเหี้ยนเตียน ถูกแทนที่ด้วยต้นปาล์ม
หลังพักทานอาหารกลางวันที่บ้านคลองเงินแล้ว หลายๆ คันอารมณ์ยังค้าง อยากจะลงไปดำผุดดำว่ายล้างรถในลำห้วย เจ้าบ้านไม่ขัดใจ พาเลาะไปตามสวนเงาะ ทุเรียน และลองกองของสมาชิกในชมรมตะรุเตา
หลังจากดำผุดดำว่ายในสายน้ำแบบหอมปากหอมคอ จนเริ่มบ่ายคล้อยเราก็ตั้งขบวนขับต่อมายังสวนปาล์มของ บริษัท ปาล์มไทยพัฒนา จำกัด (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ถ.จุติอนุสรณ์ อ.หาดใหญ่) ซึ่งเช่าพื้นที่จากกรมป่าไม้ปลูกสวนปาล์มนับหมื่นไร่ ซึ่งสวนปาล์มนี้จะขนานไปกับป่าเทือกเขาบรรทัด เส้นทางระโยงระย้าเป็นใยแมงมุมของสวนปาล์ม แต่มาทะลุออกจากเส้นทางออฟโรดที่บ้านควนกาหลง อ.ควนกาหลง ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอีกแห่งหนึ่งของสตูล นั่นก็คือ น้ำตกดาวกระจาย น้ำตกขนาดเล็กแต่สูงที่สุดของ จ.สตูล ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานน้ำตกดาวกระจายอยู่ใน
เบ็ดเสร็จแล้วงานนี้ เราวิ่งลักษณะเป็นแบบวงกลม จากอ.มะนัง มาออก อ.ควนกาหลง รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 19 กิโลเมตร ได้ตะลุยเส้นทางกันแบบหอมปากหอมคอ แต่ความสนุกสนานและความมันแบบเร้าใจยังไม่หมดแค่นี้ เพราะที่น้ำตกวังสายทองจุดพักแรมของเราในคืนนี้ ยังรอให้เราไปพิชิตสายน้ำลำโลนกันต่อในวันพรุ่งนี้
มางวดนี้คุ้มจริงๆ ครับ…
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.