ตามรอย อองรี มูโอต์ ไปพิชิตยอดเขาแด่น ตำนานแห่งโคตรเพชร
สำหรับคนเพชรบุรีแล้ว ชื่อของ เขาวัง เขาหลวง เขาย้อย รวมทั้งเขาแด่น ดูจะเป็นภูเขาที่คนเพชรบุรีรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าแทบจะตั้งแต่อ้อนแต่ออก เพราะเขาทั้ง 4 ลูกนี้ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองเพชร
ตั้งแต่จำความได้ ผมเองก็คุ้นชินกับเขาทั้ง 4 ลูกนี้มาพอสมควร โดยเฉพาะเขาแด่น ด้วยว่าสมัยเด็กๆ เคยที่ติดสอยห้อยตามตากับยายขึ้นไปไร่แถวๆ แก่งกระจานอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งต้องผ่านเขาแห่งนี้ทั้งขาไปและขากลับ แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ค่อยใส่ใจอะไรมากนัก มันก็เป็นเพียงภูเขารูปกองฟางที่ตั้งอยู่กลางท้องทุ่งเท่านั้น กระทั่งเมื่อเดือนก่อน ช่างเหรี่ยง หรือ เจษฎา ประธานชมรมพริกกระเหรี่ยง 4×4 ออฟโรด เพชรบุรี โทรมาชักชวนไปเที่ยวที่เขาแด่น โดยทางชมรมจะช่วยกันขนของขึ้นไปสร้างศาลพ่อปู่เขาแด่น ตามที่ชาวบ้านร้องขอมา พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวของเขาแด่นคร่าวๆ ในมุมที่ผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้ต้องหันกลับมาหาข้อมูลของภูเขาบ้านเกิดลูกนี้อย่างจริงจังก่อนเดินทางอีกครั้ง
นั่นทำให้รู้ว่า เขาแด่น เป็นภูเขาที่มีความสูงราว 538 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีเขาลูกบริวาร 11ลูก ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม หรือที่เรียกกันว่าป่าชุมชนนั่นเอง บนรอยต่อของ 2 อำเภอ คือ อ.หนองหญ้าปล้อง และ อ.บ้านลาด อยู่ใกล้ตัวเมืองเพชรบุรีเพียงแค่ 16 กิโลเมตร มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์พอสมควร ทั้งพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า เป็นแหล่งเล่นกีฬาทางอากาศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งข้อนี้แม้แต่คนเพชรบุรีเองก็รู้กันน้อยมาก บนจุดสูงสุดอันเป็นที่หมายตาของนักเดินเรือในสมัยก่อนคือ “ผาพีรามิด” สามารถมองเห็นโดยรอบทั่วทุกทิศ และนั่นก็คือ ที่หมายของการเดินทางในทริปนี้ของเรา
ในอดีตเขาแด่นเคยเป็นเหมืองแร่วุลแฟรม ที่สัมปทานโดย นายไพทัน เครือแก้ว ณ ลำพูน หลังหมดสัมปทานแล้ว ได้พยายามขอสิทธิ์ต่ออีก 12 ปี แต่ก็ถูกชาวบ้าน ต.ห้วยลึก ต.ห้วยข้อง กลุ่มคนรักษ์เขาแด่น กลุ่มคนรักษ์บ้านลาด และนักอนุรักษ์หลายๆ กลุ่มรวมตัวกันคัดค้านอย่างหนัก จนในที่สุดเรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไป
จะว่าไปแล้ว เขาแด่นแห่งนี้มีความเกี่ยวพันกับประวัติความเป็นมาของเพชรบุรีโดยตรง ตำราหลายๆ เล่ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของลาร์ลูแบร์ ตำนานเมืองเพ็ชร ฉบับราชบุรี พ.ศ. 2368 ต่างก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เพชรบุรี (ศรีชัยวัชรบุรี) เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของไทยในกลุ่มหัวเมืองฝ่ายตะวันตก มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีหลักฐานชื่อเรียกปรากฏในหนังสือชาวต่างประเทศ เช่น ชาวฮอลันดาเรียกว่า “พิพรีย์” ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “พิพพีล์” และ “ฟิฟรี” จึงสันนิษฐานกันว่าชื่อ “เมืองพริบพรี” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้เพชรบุรีก็เคยเป็นอาณาจักรหนึ่ง มีปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่น พระปรางค์ 5 ยอด วัดมหาธาตุวรวิหาร และปราสาทหินศิลาแลง วัดกำแพงแลง เป็นต้น ส่วนที่มาของชื่อเมืองเพชรบุรี ที่เกี่ยวข้องกับเขาแด่นตามตำนานที่เล่าสืบต่อๆ กันมาก็คือ ในสมัยโบราณเคยมีแสงระยิบระยับในเวลาค่ำคืนที่เขาแด่น ชาวบ้านเข้าใจว่ามีเพชรพลอยบนเขานั้น จึงพากันไปค้นหาแต่ก็ไม่พบ จึงได้ออกค้นหาในเวลากลางคืนแล้วใช้ปูนกินหมากป้ายเป็นตำหนิไว้ เพื่อมาค้นหาในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่พบ และด้วยเหตุนี้นี่เองทำให้บางตำรายกเขาลูกนี้เป็นที่มาของชื่อเมืองเพชรบุรี
นอกจากนี้ อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ที่นำเรื่องราวการค้นพบปราสาทนครวัด นครธม เปิดเผยสู่สายตาชาวโลก ยังใช้เวลาสำรวจเพชรบุรีถึง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ.2403 อองรีได้บันทึกถึงเขาหลวง เขาวัง และการก่อสร้างพระนครคีรี ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเขาทั้งสองลูกนี้เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน แต่ที่ อองรี ให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ แนวเขาด้านทิศตะวันตก ที่เป็นต้นน้ำและลำคลองหลายสายของเพชรบุรี เป็นหมุดหมายตาที่คนเพชรบุรีรู้จักกันดี มีรูปลักษณ์เป็นกองฟางแปลกตา ทำให้ชาวเรือมองเห็นแต่ไกลนั่นคือ เขาแด่น เป็นถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงแต่ดั้งเดิมหลายเผ่า มียอดแหลมสูงขึ้นไปอีกหลายยอด ตรงเชิงเขาเป็นที่ราบประกอบด้วยป่าทึบ ดงตาลและนาข้าวอันงดงาม แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมาร้อยกว่าปีแล้วก็ตาม ความงามของนาข้าวและทิวตาลเชิงเขาแด่นก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
ประวัติคร่าวๆ ของเขาแด่นที่เอามาเกริ่นนำเพื่อให้ทราบที่มาที่ไปของภูเขาลูกนี้ ก่อนที่จะมาว่ากันต่อในเรื่องของการเดินทางไปพิชิตยอดเขากับชมรมพริกกระเหรี่ยงฯ
ครั้นได้ของและเงินจากผู้มีจิตศรัทราร่วมบริจาคเพื่อสร้างศาลมาจำนวนหนึ่งแล้ว ก็มีการนัดแนะวันเดินทางซึ่งทางชมรมวางเอาไว้ต้นเดือนเมษายน โดยครั้งมีนี้สมาชิกร่วมเดินทางมากกว่า 10 คัน บวกกับชมรมประจวบออฟโรดคลับ อีก 4 คัน ที่มาช่วยกันขนสิ่งของ รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง ฝ่าเปลวแดดอันร้อนระอุของต้นเดือนห้าไทย รถทั้งหมดเดินทางรวมตัวกันที่บ้านของ………ในเขตบ้านหนองรี ต.ทับคร้อ อ.หนองหญ้าปล้อง พร้อมกันนี้ก็มีการจัดแบ่งรถออกเป็น 2 ขบวน ขบวนแรก 12 คัน เดินทางขึ้นทางด้านป่าชุมชนบ้านหนองรี ซึ่งเป็นทางออฟโรดแบบจัดเต็มก็คือเส้นทางที่ผมจะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสนี่แหละครับ ส่วนรถที่บรรทุกของหนัก จะขับย้อนไปขึ้นเขาอีกด้านที่บ้านสามเรือน ซึ่งทางเพิ่งได้รับการบุกเบิกใหม่ และง่ายกว่าเส้นทางบ้านหนองรี
เส้นทางบ้านหนองรีที่ว่านี้ ตั้งอยู่คนละด้านกับลานร่มบินหรือลานตากแร่ ลานร่มบินตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออก ใกล้กับค่ายลูกเสือครูเชียร และอ่างเก็บน้ำหนองไก่เถื่อน เดินทางขึ้นทางฝั่ง อ.บ้านลาด หรือ ทาง อ.แก่งกระจานก็ได้ ทางไม่ยาก ใช้เวลาไม่เยอะ รถสแตนดาร์ดก็สามารถเดินทางขึ้นไปได้ ส่วนเส้นทางบ้านหนองรี มีคนรู้จักกันน้อยมาก จะมีก็แต่ชาวบ้านในพื้นที่ ชมรมพริกกะเหรี่ยงออฟโรด และชาวแอนดูโร่เท่านั้น ทางเส้นนี้ยาวประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เป็นและเป็นทางหินที่ถูกตัดลัดเลาะไปตามป่าไผ่รวกสลับกับป่าเต็งรัง ที่ช่วงนี้ค่อนข้างร้อนจัดและแห้งแล้ง
เส้นทางจะไต่ความสูงขึ้นไปแบบเรื่อยๆ สลับกับลำห้วยในบางช่วงที่บัดนี้แห้งผากไม่เหลือเค้าของต้นน้ำสายสำคัญที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ ด้านล่าง เส้นนี้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ถือได้ว่าไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเท่าไรนัก แต่ต้องอาศัยทักษะการขับขี่ รวมทั้งรถต้องมีความพร้อมพอสมควร มีจุดไฮไลท์ที่ต้องใช้ทักษะอยู่ประมาณ 2-3 แห่ง จุดแรกเป็นเนินหินและร่องลึกสลับซ้าย-ขวา จะอยู่ในช่วงต้นๆ ทาง และจุดนี้ก็สร้างปัญหาให้กับรถเสียหายไป 2 คัน ต้องจอดแอบเอาไว้ข้างทาง ส่วนจุดที่สองนี่หนักถือว่าค่อนข้างหนักพอสมควร เป็นบันไดหินที่ยาวเกือบๆ 50 เมตร ที่เกิดจากการถูกน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นขั้นบันได ต้องใช้วินช์ช่วยแทบทุกคัน และจุดนี้ก็ทำให้รถอีก 2 คัน ต้องสังเวยยาง เพลากลาง เพลาข้าง และเฟืองแตก จอดแอบข้างทางตามระเบียบ
อย่างไรก็ตามเราใช้เวลาเดินทางเกือบๆ 7 ชั่วโมง เดินทางผ่านยอดเขาบริวารทั้งหมด 3 ลูก ผ่านเนินชันและโขดหินน้อยใหญ่มากมาย จนแทบไม่มีเวลาหายใจหายคอกันเลยทีเดียว กระทั่งบ่ายคล้อยก็เดินทางถึงสันเขาแด่นด้านบน สิ้นสุดเส้นทางที่รถสามารถขับต่อไปได้ ต่างคนต่างสาละวนขนของขึ้นไปบนยอดจุดสูงสุดอีกราว 80 เมตร ที่ตั้งของศาลพ่อปู่เขาแด่น หรือบางคนเรียกยอดเขาพีรามิด เพื่อเร่งมือในการสร้างศาลและศาลาพักแห่งใหม่ ให้ทันกับพิธีกรรมในการยกศาลพ่อปู่เขาแด่นก่อนเที่ยงวันพรุ่งนี้
แม้ว่าจะเป็นช่วงบ่ายคล้อย อุณหภูมิด้านล่างนั้นถือว่าร้อนได้ใจปีนป่ายไปเกือบๆ 40 องศาเซลเซียส แต่น่าแปลกเมื่อขึ้นมาถึงยอดเขาแด่น ลมพัดกับเย็นสบาย สลับกับกรรโชกในบางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวด้านบน เสียงลมปะทะราวป่าและโขดผาดังอื้ออึงราวกับรถไฟทั้งขบวนวิ่งผ่าน บนจุดชมวิวนี้มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้เกือบรอบด้าน โดยเฉพาะฝั่งทิศตะวันออก ที่เป็นแบบเบิร์ดอายเปิดกว้างมากกว่า 180 องศา เห็นตั้งแต่ตัวเมืองเพชรบุรี ชะอำ รวมทั้งหัวหิน น่าเสียดายที่อากาศช่วงนี้ขมุกขมัว ทำให้มองเห็นทะเลอ่าวไทยเพียงรางเลือนที่ปลายฟ้า และเมื่อหันกลับไปมองด้านทิศตะวันตก จะเห็นทะเลภูเขาของเทือกเขาตะนาวศรี ทอดตัวยาวสลับซับซ้อนเป็นกำแพงธรรมชาติอันงดงาม
ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ยอดเขาแด่นแห่งนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางในฝันของนักเดินทางได้ไม่ยาก
น่าเสียดายที่ผมไม่ได้นอนพักค้างแรม และร่วมพิธีกรรมในการยกศาลพ่อปู่เขาแด่นหลังใหม่ เพราะติดภารกิจในช่วงวันอาทิตย์จึงเดินทางกลับลงมาก่อน ขากลับเราเดินทางมาลงที่เขารักษ์ (เส้นทางที่ขบวนรถอีกชุดขนของขึ้นมา) ผ่านโครงการธนาคารอาหารชุมชน และสร้างฝายชะลอน้ำ บ้านสามเรือน อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการร่วมสร้างโดยสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี โดยใช้เวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมง ก็มาถึงที่ราบด้านล่าง
น่าแปลกที่ทางฝั่งบ้านหนองรีเป็นหินล้วนๆ แต่ฝั่งเขารักษ์เส้นทางกลายเป็นดินป่าไผ่ มีหินน้อยมาก หากเดินทางขึ้นทางฝั่งนี้ช่วงหน้าฝนน่าจะยากกว่าการขึ้นทางบ้านหนองรี เนื่องจากดูสภาพเส้นทางที่ส่วนใหญ่เป็นเนินชันๆ มีลำห้วยดักตลอด และเป็นดินป่าไผ่ คงลื่นไม่เอาใครจริงๆ…ฝนนี้ หรือหนาวหน้า ใครอยากไปสัมผัสโคตรเพชรที่เขาแด่น ติดต่อสอบถามได้ที่ชมรมพริกกระเหรี่ยง 4×4 เพชรบุรี ออฟโรด
เขาแด่น มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติของผืนป่าใหญ่
เขาแด่น คือ “ภูเขาสูง 538 เมตรจากระดับน้ำทะเล..มีเขาลูกบริวาร 11ลูก ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม บนรอยต่อของ 3 อำเภอ ทั้ง อ.หนองหญ้าปล้อง อ.บ้านลาด และ อ.แก่งกระจาน มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 32,000ไร่ เป็นผืนป่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเพชรบุรีมากที่สุดเพียง 16 กิโลเมตร มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ที่ยังพอมีให้พบเห็นอยู่บ้าง เช่น เลียงผา เก้ง ลิงเสน ค่าง สุนัขจิ้งจอก ไก่ป่าและนกนานาชนิด…รวมทั้งเป็นแหล่งเล่นกีฬาทางอากาศ เช่น “พาราไกร์ดิ้ง” และ “พารามอเตอร์” ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเอเชีย เนื่องจากเป็นภูเขาที่ตั้งโดดเด่นอยู่กลางท้องทุ่ง ก่อนถึงผืนป่าใหญ่อย่างแก่งกระจาน ในแนวของเทือกเขาตะนาวศรี ดังนั้นเขาลูกนี้จึงรับลมเต็มๆ จากทั่วทุกสารทิศ ด้านบนมีกระแสลมแรงและเย็นสบายตลอดทั้งปี สามารถมองเห็นท้องทะเลฝั่งตะวันออก รวมทั้งผืนป่าตะวันตกได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีสถานท่องเที่ยวมากมายทั้ง ลานหินซ้อน น้ำตกบ่อยา ลานดอกขี้ใต้ ที่มีความสวยงามไม่แพ้ดอกกระเจียว ตลอดจนผาลั่นทม และจุดสูงสุดอันเป็นที่หมายตาของนักเดินเรือในสมัยก่อนคือ “ผาพีรามิด” สามารถมองเห็นโดยรอบทั่วทุกทิศ..
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย Off Road Magazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ Off Road Magazine
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.