ตามรอยเส้นทางสายประวัติศาสตร์สงครามโฮจิมินห์ (ตอนจบ)

trip_hojiminh_01

มาว่ากันต่อกับการเดินทางท่องเที่ยวไปบนเส้นทางสายประวัติศาสตร์สงครามโฮจิมินห์ ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย น่าสนใจอย่างยิ่ง

ฉบับที่แล้วทิ้งท้ายเอาไว้ที่ ระวินระเวิง ซึ่งเป็นยอดเขาสูงประมาณ 1,000เมตร ห่างชายแดนเวียดนามเพียงแค่ 3 กม. เป็นอีกจุดหนึ่งที่โดนพิษของฝนเหลืองเข้าอย่างจัง ในสมัยของสงครามเวียดนาม

trip_hojiminh_02

trip_hojiminh_03

หัวหน้าชุดคุ้มกันอธิบายต่อไปว่าเมื่อหลังจากสงครามยุติลง เศษซากสงครามที่เหลือทิ้งไว้คือ ลูกระเบิดเทียบกันง่ายๆ ว่าประชากรของลาวทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน ลูกระเบิดที่ประเทศมหาอำนาจนำมาทิ้งที่ประเทศลาวกว่า 3 ล้านตันหรือประมาณเกือบ 3 ร้อยล้านลูก  เพราะฉะนั้นรัฐบาลลาวได้ก่อตั้งองค์การเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติ (Lao UXO) ในปี 1996 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ก็สามารถเก็บกู้ระเบิด UXO ออกไปจากที่ดินทำกินของประชาชนลาวได้เพียง 63,300 กว่าไร่ ซึ่งไม่ถึง 1% ของพื้นที่ที่มีระเบิด UXO ตกค้างอยู่ในลาว และได้ทำลายระเบิด UXO ไปเพียง 7 แสนกว่าลูกเท่านั้น ในขณะที่มีระเบิด UXO ตกค้างอยู่ในลาวมากกว่า 270 ล้านลูก

trip_hojiminh_04

trip_hojiminh_05

จึงไม่แปลกที่ระหว่างทางที่เราขับรถผ่าน เราไม่ค่อยจะเห็นพื้นที่การทำการเกษตรทั้งๆ ที่เป็นที่ราบลุ่มและอุดมไปด้วยแหล่งน้ำอันสมบูรณ์ ผ่านไปแต่ละเมืองจะเจอแม่น้ำขนาดใหญ่-น้อยปะปนกันไป ผมนี่อดคิดไม่ได้ถ้าเป็นบ้านเราจะทำนาปีละกี่ครั้ง  หากเมื่อไรที่ลาวเก็บกู้ระเบิดหมดไป เมื่อนั้นละครับผมว่าลาวจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวรายใหญ่แข่งกับบ้านเราเป็นแน่

trip_hojiminh_06

trip_hojiminh_07

หลังจากอิ่มกับบรรยากาศกันเต็มที่พวกเราเริ่มเก็บเต็นท์ และสิ่งของออกจากพื้นที่เพื่อเดินทางไปยัง ”ถ้ำน้ำลอดเซบั้งไฟ” เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน  ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นถ้ำน้ำลอดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทางอ้ายโจบอกว่าวันนี้ทีเด็ดตรงที่ว่า เราจะไปนอนตรงหาดทรายหน้าถ้ำกันเลยทีเดียว  เส้นทางที่ใช้เราวิ่งคือ เมืองวีละบุรี สิ่งที่ได้มองเห็นระหว่างทางเมืองวีละบุรีคือ เป็นเมืองค่อนข้างเจริญพอประมาณ ที่นี้มีการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่โดยมีเหมืองแร่ทองคำขนาดใหญ่ซึ่งเราสามารถมองเห็นไกลๆ  ประชากรส่วนใหญ่จึงได้ผลประโยชน์จากการจ้างงานเป็นคนงานในเหมืองแร่ มีร้านค้าร้านอาหารพอประมาณ ทางทีมงานจึงว่าที่นี้เหมาะกับการรับประทานมื้อเที่ยงเพราะข้างหน้าเรายังไม่ทราบว่าชะตากรรมชีวิตจะเป็นอย่างไร งานนี้ถือว่าเป็นมื้อเที่ยงที่แสนอร่อยที่สุด..!จากหลายวันที่ผ่าน

trip_hojiminh_08

trip_hojiminh_09

จากนั้นเราเดินทางกันต่อสภาพแวดล้อมบ้านเมืองในแถบชนบท แถบจะไม่ต่างกันกับเส้นทางที่ผ่านมา  สังเกตอีกอย่างผมเองก็สงสัย บ้านแถวๆ นี้ไม่มีบันไดขึ้นแล้วจะขึ้นบ้านยังไง พอถึงจุดที่เราพักรถเลยไปสอบถามเจ้าหน้าที่คุ้มกันได้คำตอบว่าส่วนใหญ่ที่นี้บ้านมีบันได แต่จะเป็นบันไดแบบพาดกับตัวบ้านค่ำมาก็ยกขึ้นไปด้วยเพราะที่นี้ตามเมืองขนาดเล็กๆ จะไม่มีธนาคาร ดังนั้นการที่บ้านไม่มีบันไดเพราะส่วนหนึ่งชาวบ้านเก็บเงินเก็บทองไว้บนบ้านเป็นการป้องกันขโมยอย่างหนึ่ง …อ้อเป็นแบบนี้นี่เอง เล่นเอาผมคิดถึงหนังเรื่องนายฮ้อยทมิฬไปเลย จากนั้นเราวิ่งรถเลือกใช้เส้นทางท่าแขกไปยังบ้านมหาไช ไปบ้านป่าหนาม แล้วไปยังเมืองบัวละพา แม้ว่าระยะทางจะใกล้กว่าเล็กน้อย แต่เป็นเส้นทางลูกรัง ไปตามทางเรื่อยๆ เจอรถลากไม้ขนาดใหญ่และโรงเลื่อยท่อนซุงวางเกลื่อนกลาดข้างถนน  เล่นเอาในทีมตื่นตากับอุตสาหกรรมป่าไม้ที่นี้จริงๆ คิดแล้วก็เศร้า เพราะกว่าต้นไม้จะเติบใหญ่ขนาดนี้คงใช้ระยะเวลาหลายสิบปี เศษไม้ที่เห็นบางทีสามารถไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้หลากหลาย แต่ที่นี้เขาเอาไปทำถ่านก่อไฟ

trip_hojiminh_10

trip_hojiminh_11

เราใช้เวลาไปไม่นานเราก็มาถึงเมืองบัวละพา สภาพบ้านเมืองถือว่ายังไม่ค่อยจะเจริญเท่าไรถ้าเทียบกับเมืองเซโปน ทุกคนลงรถรีบแวะเข้าตลาดสดช่วงเย็นเรามาถึงประมาณบ่ายสามโมง ทางคุณเล็กบอกว่าวันนี้ดีกว่าวันก่อนๆ เพราะเรามาถึงที่หมายยังไม่ค่ำมืด ค่อยมีเวลาทำอาหารชมบรรยากาศหน่อย แต่อ้ายโจบอกว่าใจเย็นๆเพราะเรายังไม่ถึงที่หมายเพราะเหลือระยะทางไปบ้านหนองปิง (ตรงจุดกางเต็นท์หน้าถ้ำน้ำลอด) อีก16กิโลเมตร ผมเองเลยว่าแค่16กิโลเมตรแค่นี้เองให้เวลาเต็มที่คงไม่เกินครึ่งชั่วโมง ทางทีมอ้ายโจบอกว่าอาจารย์ลองจับเวลาดูได้เลยครับ เพราะเมือยามเวลาฤดูฝนเส้นทางนี้จะต้องใช้เวลาในการเดินทางถึง 5-6 ชั่วโมง โอ้ว…อะไรจะขนาดนั้น เพราะช่วงที่ผมไปนี่ไม่มีฝนดินแห้งมีแต่ฝุ่น ทางทีมงานเลยรีบซื้ออาหารเสร็จเราเดินทางกันต่อเพื่อจะได้บรรยากาศก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน

trip_hojiminh_13

trip_hojiminh_14

เส้นทางในช่วงเมืองบัวละพาถึงบ้านหนองปิง เราต้องเบี่ยงรถเพื่อข้ามลำห้วยซึ่งมีน้ำนิดหน่อย (จริงๆจะข้ามตรงสะพานก็ไม่มั่นใจในสภาพของสะพานเท่าไร) กว่าจะถึงบ้านหนองปิงใช้เวลาไปถึงชั่วโมงครึ่งกับระยะทาง 16 กิโลเมตร ไม่นานนักเราก็มาถึงบ้านหนองปิงที่อยู่อยู่ริมน้ำเซบั้งไฟ โดยถ้ำน้ำลอดเซบั้งไฟอยู่ห่างออกไป 2 กม.การสำรวจถ้ำเซบั้งไฟที่กล่าวขานกันว่าเป็นถ้ำน้ำลอดที่มีขนาดใหญ่และยาวร่วม 10 กิโลเมตร….แบบนี้ พอเข้าใจละเพราะสภาพเส้นทางมันช่างสะเทือนตับไตไส้พุงดีจริงๆ แต่พอถึงก็พบปัญหาทางลงไปยังหาดทรายตลิ่งด้านล่างมันทรุดพังไป งานนี้ทั้งทีมงานทั้งหมดลงรถไปดูไลน์ เพราะคุยกันไว้แล้วจะนอนตรงริมหาดทรายให้ได้ ภารกิจเตรียมจอบเพื่อปรับตลิ่งให้ลาดเอียงเพื่อที่จะเอารถลงมาให้ได้ (ขี้เกียจขนของสัมภาระ) เราเสียเวลาไปกับการปรับผิวไปครึ่งชั่วโมงจึงให้รถคันน้าฮาร์ทลองของเป็นคันแรก ซึ่งก็ไม่มีปัญหาตามมาด้วยรถเสี่ยเล็กกับรถคันไม่เล็ก VX80 ลงไปได้อย่างง่ายดาย และสมาชิกคันอื่นๆ ก็ตามมากันอย่างไม่ยาก ลงมาริมหาดพบเด็กน้อยกำลังใส่ตาข่ายดักปลาทำเอาให้คิดถึงสมัยที่ผมเป็นเด็กก็แบบนี้เหมือนกัน  กลับมาที่ทีมงานจัดแจงอาหารการกินเรียบร้อยพวกเรากางเต็นท์ตั้งวงอิ่มกับบรรยากาศเช่นนี้จริงๆ ทั้งเส้นทางทั้งสถานที่ช่างมีความสุขเหลือเกิน

trip_hojiminh_15

trip_hojiminh_16

พอเช้ามาทีมงานเริ่มเตรียมเรือเพื่อจะเข้าไปสำรวจถ้ำสูบลมเรือยาง จับคู่ลงเรือ มีชาวบ้านที่เคยเข้าถ้ำนี้มาแล้วตามมาด้วยสองคน  ห้วงเวลาของความตื่นเต้นเริ่มขึ้นเมื่อก้าวสู่ห้วงมืดพร้อมกับเสียงแก่งใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า เพื่อไม่ต้องเสี่ยงผ่านแก่งในถ้ำมืด จึงต้องลากเรือข้ามแก่งไปในจุดที่ปลอดภัย  แสงไฟฉายที่ถูกกลืนหายไปในอุโมงค์มืดขนาดใหญ่ บางแห่งไฟฉายก็ไม่สามารถส่องไปถึงเพดานถ้ำ กลางลำน้ำจะมีแก่งกีดขวางทางน้ำ อยู่ 5-6 จุดที่เราต้องใช้วิธีลากเรือข้ามไป ความมหัศจรรย์ของโถงถ้ำและหินงอกหินย้อยอันเป็นภาพที่สวยงาม จนต้องแวะจอดถ่ายภาพเก็บไว้ บางแห่งจะมองเห็นเพดานถ้ำสูงมากๆ บางแห่งก็เป็นหาดทรายริมน้ำ ถัดขึ้นไปจะเป็นหินงอกหินย้อยที่ถูกจรรโลงสร้างขึ้นมาท่ามกลางโลกมืด โดยเฉพาะม่านหินย้อยในรูปแบบ Flowstone ที่อยู่บนผนังผาริมหาด ซึ่งเราก็ได้ชื่นชมภาพเหล่านั้นอย่างเต็มตา เสียงปลาขนาดใหญ่ฮุบน้ำดังโผงๆ ขณะที่เรือพายไปในความมืดอย่างช้าๆ  กล้อง Nikon D3 ของผมยังทำหน้าที่ได้ไม่ผิดหวัง แม้ในสภาพแสงน้อยยังจับโฟกัสได้แม่นยำจนถึงจุดมุมโค้งในถ้ำอันมืดสนิท น้าฮาร์ทคิดอยู่ในใจถ้ามีงูใหญ่เลื้อยตามน้ำมาจะทำยังไง เล่นเอาเพื่อนสมาชิกที่ไปด้วยคิดจินตนาการตามไปด้วย

trip_hojiminh_17

trip_hojiminh_19

เราใช้เวลาในถ้ำพอสมควรพวกเราจึงพากันกลับ เพราะแสงสว่างที่เตรียมไปเริ่มจะส่องไม่ถึงเพดานถ้ำเพราะขนาดถ้ำที่สูงใหญ่ เอาไว้คราวหน้าจะกลับมาใหม่เรากลับมาถึงจุดที่กางเต็นท์หน้าถ้ำช่วยกันเก็บเสบียงและเต็นท์เพื่อมุ่งหน้าสู่แขวงสะหวันนะเขตเพื่อค้างแรมที่นั้นอีกหนึ่งคืน เพราะระยะที่จะวิ่งไปประมาณ 200 กิโลเมตร สภาพทางค่อนข้างทุรกันดารคงไปถึงที่สะหวันนะเขตมืดค่ำเป็นแน่ อย่างที่คาดการไว้กว่าจะถึงสะหวันนะเขต  2 ทุ่มกว่า เราเข้าพักที่โรงแรมด้วยความอ่อนเพลีย และในช่วงเช้าทีมพวกเราและกลับสู่มาตุภูมิด้วยความสวัสดิภาพ พร้อมเก็บเรื่องราวและภาพความประทับใจ และสักวันเราจะมาย้อนรอยเส้นทางนี้อีกอย่างแน่นอน

trip_hojiminh_20

trip_hojiminh_21

ถ้ำน้ำลอดเซบั้งไฟ

เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบถ้ำลอดแห่งนี้ในปี 1905 (พ.ศ.2448) โดยนั่งแพไม้ไผ่เข้าไป และอีก 90 ปีต่อมา คือ ในปี 2538 นักสำรวจจากฝรั่งเศสที่อ่านพบเรื่องราวเกี่ยวกับถ้ำสวยงามแห่งนี้เข้า จึงได้กลับไปเยี่ยมชมที่นี่อีกครั้ง  ทีมสำรวจใหม่ที่นำโดยนักสำรวจถ้ำ จอห์น พอลแล็ค (John Pollack) เดินทางเข้าไปยังเซบั้งไฟในปี 2549 และเก็บความประทับใจกลับไป จากนั้นได้ออกหาทุนเพื่อการสำรวจถ้ำทั้งระบบอีกครั้ง  ทีมของพอลแล็ค กลับไปยังถ้ำลอดเซบั้งไฟอีก ในเดือน ก.พ.ปี 51 จัดทำแผนที่และเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายภาพโดยทีม(National Geographic) เก็บความงดงามของระบบถ้ำ ที่มีความยาวรวมกันเป็นระยะทางถึง 9.5 กิโลเมตร และได้นำออกเผยโฉมอันงดงามภายในออกสู่สายตาชาวโลก  บ๊อบ ออสเบิร์น (Bob Osburn) ผู้ร่วมนำทีมสำรวจได้เป็นผู้จัดทำแผนที่ระบบถ้ำ และเดวิด บันเนล (Dave Bunnell) เก็บภาพอันสวยงามทั้งหมด บุคคลอื่นที่ร่วมทีมยังประกอบด้วยนักวิจัยชาวแคนาดา กับชาวอเมริกัน ชาติละ 4 คน ผู้นำทางชาวลาวกับผู้ช่วยงานอีกจำนวนหนึ่ง

trip_hojiminh_22

trip_hojiminh_23

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์  รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save