ซื้อรถต้องระวัง! เพราะอาจเจอรถ Copy

การจะมีรถไว้ในครอบครองซักคัน ก็ต้องทำการบ้านกันเยอะซักนิดนึง เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนการจีบสาวนั่นแหละ เพราะต้องดูกันให้ดี ดูกันให้ลึก ทำไมน่ะเหรอ..? ก็สมัยนี้ของ Copy มันเยอะมากซะจนแยกไม่ออกว่า “แท้ หรือเทียม” ถ้าเป็นเรื่องรถมือใหม่ออกห้างล่ะก็มั่นใจได้ แต่ถ้าเป็นมือสองออกจากที่อื่นมาล่ะก็ อันนี้ก็ต้องพิจารณากันเยอะซักนิด เพราะถ้าวันดี คืนดี ไปต่อทะเบียนภาษี แล้วเจอ “รถแฝด” ขึ้นมาล่ะ…งานเข้า

ปัจจุบันนี้การปลอมแปลงเอกสารในการซื้อ – ขายรถมือสองเนี่ย มันก็มีอยู่หลายวิธี แต่ถ้าจะให้ผู้เขียนบอกวิธีการทำ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นคนปลอมเอกสารขึ้นมาเอง เอาเป็นว่าผู้เขียนจะมาคุยให้ฟังดีกว่า ว่ารายละเอียดมันมีอะไรบ้าง

%e0%b8%97%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%a3%e0%b8%962

หลักๆ ที่พบเจอกันทั่วไปกับการปลอมแปลงรถมือสองเนี่ย อันดับ 1 เลย คือ การ “รถสวมทะเบียน” การสวมทะเบียน คือ การปลอมเอกสาร และเลขทะเบียนหมดทุกอย่าง ทั้งสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายทะเบียน ไปยันแผ่นป้านแสดงการเสียภาษี ส่วนใหญ่ที่จะทำกัน คือรถประเภทที่หายากๆ หรือประเภทรถหรูๆ แพงๆ ระดับ Super Car ที่นำเข้ามาซะมากกว่า
แต่การปลอมแปลงเอกสารรถซักคันเนี่ยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน ยกตัวอย่างคุณมีรถสวยๆ หายากอยู่คัน แต่ดันไม่มีเล่ม จะเอาออกไปขับก็ไม่ได้ ไปไหนก็ระแวงว่าตำรวจจะ“สอย” แต่ก็อยากขับเหลือเกิน คุณจะทำไง…คำตอบ คือ คุณก็ไปหารถรุ่นเดียวกันมาซักคัน จะเป็นซากก็ได้ แต่ขอให้มีเล่มไว้ก่อน แล้วก็ทำการเปลี่ยนตัวเลขในจุดต่างๆ ของรถ เช่น เลขแชสซีร์, เลขตัวถัง, แผ่นป้ายทะเบียน ให้ตรงกับสมุดเล่มที่ซื้อมาก็เท่านั้น ซึ่งวิธีนี้ก็มีทำกันดาษดื่นทั่วๆ ไป

หรือไม่ก็คือ รถมีสมุดเล่มเรียบร้อย แต่เป็น Copy คือ เล่มแท้จากขนส่ง แต่ไม่สามารถต่อทะเบียน ต่อภาษี ซึ่งนั่นก็มั่นใจได้เลยว่า เป็นเอกสารที่ปลอมขึ้นจากภายใน และแบบนี้ไม่มีทางพิสูจน์ได้ จนกว่าจะถึงต้องไปต่อทะเบียน ต่อภาษีจริงๆ ซึ่งทำไม่ได้ เพราะไม่มีต้นขั้วอยู่กับกรมขนส่งนั่นเอง

นอกจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพหรือแก้ไขเลขตัวรถแล้ว การแก้ไขเอกสารต่างๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ, การทำใบแจ้งจำหน่ายรถปลอม, การสร้างทะเบียนปลอม, การทำใบแจ้งย้ายปลอม, การทำป้ายวงกลมและป้ายทะเบียนปลอม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกจุดที่ผู้ซื้อต้องทำการตรวจเช็คให้ดี เพราะสามารถปลอมแปลงกันได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกเช่นกัน สำหรับมิจฉาชีพพวกนี้แต่….ไม่ใช่ว่าจะดูไม่ออกซะทีเดียว

การตรวจสอบเอกสาร

ปัญหาดังกล่าวหลีกเลี่ยงได้ หากพิจารณาให้ดีก่อนที่จะซื้อรถไปเจอ Copy นั้นก็ต้องตรวจสอบในจุดต่างๆ ทั้งตัวรถ และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี, แผ่นป้ายทะเบียน, สำเนาคู่มือจดทะเบียน, เครื่องมือประกันภัย, เลขตัวรถ, และเลขเครื่องยนต์ เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี จะเป็นรูปลี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีข้อความเขียนว่า “กรมการขนส่งทางบก” ด้านบนและ “กระทรวงคมนาคม” ด้านล่าง พื้นเครื่องหมาย มีลวดลายเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก
เมื่อสังเกตด้านล่าง จะเห็นว่ามีเครื่องหมายแถบพิเศษ อยู่เหนือแนวขอบด้านล่างเป็นรูปลี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ โดยแถบนี้จะมีคุณลักษณะพิเศษ ในการป้องกันการนำไปถ่ายเอกสารสีอยู่ นั่นคือจะมีคำว่า “ปลอม” ปรากฏออกมาให้เห็น

แผ่นป้ายทะเบียนรถ

วิธีสังเกตว่าเป็นแผ่นป้ายจริงรึเปล่านั้น ให้ดูจากขนาดของแผ่นป้าย, วัสดุต้องเป็นอลูมิเนียม, คุณภาพสี และการสะท้อนของแสง, ขนาดตัวอักษรและตัวเลข, ดวงตราประจำกรมการขนส่งทางบก และตัวพิมพ์นูนที่มุมซ้ายล่างของแผ่นป้ายทะเบียน
นอกจากนี้ควรสำรวจดูว่ามีร่องรอยของการแก้ไขส่วนหนึ่งส่วนใดหรือตัดต่อแผ่นป้ายหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถเบื้องต้นกับกรมการขนส่งทางบกในพื้นที่นั้นๆ

สมุดคู่มือจดทะเบียน

การตรวจสอบสมุดคู่มือนั้น ทำได้โดยให้สังเกตความเข้ม ขนาดของเส้นตามข้อความในรายการจดทะเบียน ลายมือเจ้าของรถ ลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ และลายมือชื่อนายทะเบียน ควรจะต้องต่างกัน เพราะเป็นคนละคนกัน รวมถึงปากกาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย
นอกจากนี้ ขนาดและลายเส้นของตัวอักษร ควรเปรียบเทียบกับตัวอักษรตัวอื่นๆ ด้วยเพราะสมุดนั้นอาจมีการพิมพ์สำเนาซ้ำ และถ้าหากมีการแก้ไขข้อความ ก็ควรจะต้องมีลายมือชื่อของนายทะเบียนลงนามกำกับไว้ อีกทั้งข้อมูลในสมุดเล่มทะเบียนควรจะต้องตรงกันกับเอกสารเครื่องหมายประกันภัยป้ายแสดงการเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียน

เครื่องหมายประกันภัย

คือ เครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหาย สำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และเครื่องหมายประกันภัย คือ เอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ มีอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการประกัยภับมอบหมายเป็นนายทะเบียน ส่งมอบเครื่องหมายให้บริษัทประกันภัย
เมื่อบริษัทขายกรมธรรม์ประกันภัยให้เจ้าของรถ พนักงานหรือตัวแทนของบริษัทฯ ก็จะบันทึกข้อความลงในเครื่องหมายประกันภัย และมอบเครื่องหมายประกันภัย พร้อมกรมธรรม์ฯ ให้เจ้าของรถเพื่อนำไปติดแสดงที่รถ ลักษณะของเครื่องหมายประกันภัย จะเป็นแผ่นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมมีข้อความสำคัญ คือ เลขที่กรมธรรม์ที่บริษัทประกันภัยออกให้, ชื่อบริษัทผู้รับประกัน, เลขทะเบียนชื่อรถเลขตัวรถที่ทำประกัน, วันสิ้นสุดอายุการทำประกันภัย, เลขที่ประจำเครื่องหมาย และลายมือชื่อนายทะเบียน
สำหรับวิธีการดูเอกสารนี้ จะตรวจดูที่เครื่องหมายฯ ว่าเป็นเครื่องหมายที่ทางราชการ กรมการประกันภัยจัดพิมพ์ขึ้นหรือไม่ และเลขที่ประจำเครื่องหมาย จะเป็นเลข 7 หลัก พิมพ์ด้วยสีดำ ลายเส้นลึกเป็นร่อง ด้านหลังเป็นสันนูน ด้านขวาของเครื่องหมายจะไม่เรียบสนิท เพราะเครื่องหมายถูกฉีกมาจากต้นขั้ว ทำให้ด้านขวาจะเป็นรอยปรุ และสีต้องเป็นสีที่ถูกต้องกับสีที่กรมการประกันภัยกำหนด (อันนี้คือวิธีดูนะครับ แต่ปัจจุบันเนี่ยไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะประกันภัยถูกรวมไว้กับป้ายภาษีประจำปีที่เราไปต่อกันทุกปี)

เลขตัวรถ

เลขตัวรถนี้จะถูกพิมพ์ไว้เป็นชุด ประกอบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข มีความหมายตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้ คือ เป็นรถยี่ห้อใด รุ่นใด, ผลิตในประเทศใด ปีค.ศ.ใด, ใช้เครื่องยนต์ชนิดใด ระบบใด และลักษณะรถ เป็นตอนเดียวหรือสองตอน
การตรวจสอบเลขตัวรถนั้นควรดู ว่ามีร่องรอยการแก้ไขเลขตัวรถหรือไม่รวมถึงชั้นสีตรงตำแหน่งตัวเลข โดยดูว่าเป็นสีเดิมหรือมีการพ่นสีทับหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นสีเดิม สีจะค่อนข้างทึบด้านไม่มันวาว แต่ถ้ามีการพ่นสีทับสีเดิม ลักษณะสีจะมันวาว
อีกทั้งพื้นผิวบริเวณห้องเครื่องยนต์จะเรียบตามรอยปั๊มจากโรงงาน แต่ถ้าแก้ไข หรือทำขึ้นใหม่จะเป็นคลื่นไม่เรียบ และควรตรวจตัวเลขทุกตัว ว่ามีร่องรอยของการตอกเลขซ้ำหรือไม่ เพราะบางรุ่น บางคัน แก้ไขเฉพาะตัวอักษรบางตัวก็มี รวมไปถึงตำแหน่งของเลขตัวรถโดยเปรียบเทียบจากรถคันอื่น เช่น รุ่นเดียวกันก็ควรจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมือนกัน และควรตรวจสอบซ้ำว่าเลขตัวถังตรงกับในสมุดคู่มือจดทะเบียนหรือไม่ ครั้งหน้าเราจะมาดูว่าแบบไหนเล่มแท้แบบไหนเล่มปลอมกันจะๆ

ข้อมูลดังกล่าว เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในการตรวจสอบเอกสารเท่านั้น ผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดแบบเต็มรูปแบบได้จากเว็บไซต์ของ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล www.rodhai.com

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save