ซื้อขายรถต้องโอนเอง อย่าโอนลอย
เรามักได้ยินข่าวกรณีปัญหาเรื่องการซื้อรถโดยวิธีโอนลอย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุทั้งที่ซื้อขายไปแล้วแต่รถยังเป็นชื่อเจ้าของเดิมอยู่ หรือจะเป็นการนำรถที่ซื้อขายแล้วแต่โอนลอยไปก่อคดีทำให้เกิดปัญหาย้อนมาถึงผู้ขายได้ ดังนั้นการโอนรถควรทำด้วยตัวเองเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
การโอนลอยคืออะไร
“วิธีการโอนลอย” เป็นการดำเนินการโอนรถโดยในแบบคำขอโอนมีเพียงชื่อผู้โอน (ชื่อเจ้าของรถ) และยังไม่มีการกรอกชื่อผู้รับโอนหรือกรอกแล้วแต่ยังไม่ไปจดแจ้งการโอนให้เรียบร้อย และผู้ซื้อหรือผู้รับโอนไม่นำรถไปดำเนินการตรวจสภาพรถด้วยตนเองตามขั้นตอนของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพนำรถโจรกรรมมาหลอกขายได้โดยง่าย ดังนั้นเมื่อเราตกลงขายรถเป็นที่เรียบร้อย เราควรทำการโอนทางทะเบียน นำรถเข้าตรวจสภาพ และตรวจสอบความถูกต้องของตัวรถและเอกสาร ณ สำนักงานขนส่งที่รถนั้นจดทะเบียน ให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย สบายใจ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มั่นใจได้ว่ารถที่ซื้อนั้นเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย
หลักฐานที่ใช้การโอนกรรมสิทธิ์รถ
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผุ้มีอำนาจลงนาม
- สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- สำเนาใบมรณะบัตรเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมพร้อมสำเนา (กรณีโอนรับมรดก)
- แบบคำขอโอนและรับโอน ซึ่งกรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียนร้อยแล้ว
- หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอง กรณีผู้โอน และ/หรือผู้รับโอนมิได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง
สถานที่ติดต่อ
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาที่ผู้โอนมีที่อยู่ปรากฎในใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือที่ขอแจ้งใช้รถไว้
ขั้นตอนการดำเนินการ
- นำรถเข้ารับการตรวจสอบ ที่งานตรวจสภาพรถยนต์ (ยกเว้นกรณีโอนปิดบัญชีจากผู้ให้เช่าซื้อไปยังผู้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน ไม่ต้องตรวจสอบรถ)
- ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์และชำระค่าธรรมเนียม ที่งานทะเบียนรถ
- รับใบคู่มือจดทะเบียนรถคืน
- รับใบเสร็จรับเงิน ใบคู่มือจดทะเบียนรถ เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้าย ทะเบียนรถ
หมายเหตุ
การโอนกรรมสิทธิ์รถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันโอน (หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.