ชวนกันไปเก็บสายหมอก หยอกสายลม ที่ยอดภูหลวง เมืองเลย

รอยต่อแห่งฤดูกาล จากคิมหันต์สู่วัสสานะ ร่องรอยแสงแดดกล้าของปีนี้ค่อนข้างน้อย ความชุ่มฉ่ำมาเร็วกว่ากำหนดในเขตนี้ ส่งผลให้ความหลากหลายแห่งชีวิตพันธุ์ป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ภูหลวง จังหวัดเลย เมืองที่ไม่เคยหลับใหลในการท่องเที่ยวทุกฤดูกาล เมืองที่มีมนต์เสน่ห์ต้องจิตดลใจเหล่าขุนพลออฟโรด ต้องคอยถวิลหากิจกรรมสร้างสรรค์สู่พื้นที่ ตามแบบฉบับคนออฟโรดตลอดเวลา เหมือนกลุ่มออฟโรดเล็กๆ กลุ่มนี้ครับ  “ชมรมฅนเลยออฟโรด”

“ต้นฝนมาเร็วแบบนี้ หาอะไรทำกันสิครับพี่น้อง มาเราขึ้นไปทำโป่งช้างเทียมที่ภูหลวงกัน” เป็นอีกครั้งที่ผมปฏิเสธไม่ได้จากคำเชิญของเลขาฯชมรมฅนเลยออฟโรด โจ กิตติพงษ์  ร่วมเดือนที่กลุ่มนี้คอยประสานงานและรวบรวมทุนทรัพย์ในการจัดกิจกรรม จัดทำกิจกรรมโป่งช้างเทียม บนพื้นที่ยอดภูหลวง จากการประสานงานของ นพ อนุกูล ที่คอยติดตาม ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ทุกเรื่อง เพื่อเริ่มต้นทริปนี้ ด้วยความวาดหวังอีกสิ่งหนึ่งคือ การได้ไปสัมผัสกลิ่นป่าบนยอดเขาสูง ซึ่งนานมากกว่าสิบปีแล้วที่ผมไม่เคยขึ้นไปอีกเลยในกิจกรรมแบบนี้ “เก็บสายหมอก หยอกสายลม ที่ห่มยอดหญ้า และดอกไม้ป่า นานาพันธุ์” สมาชิกฅนเลยออฟโรด 15 คัน จากชมรมกาฬสินธุ์ออฟโรด 2 คัน จากชมรมขอนแก่นออฟโรด 1 คัน และจากหนองบัวลำภู 1 คัน มีเป้าหมายเดียวกันที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย พื้นที่ทางเข้า อบต.สานตม ของนายกอบต. ปิรันด์ ประสมทรัพย์ หนึ่งในสมาชิกฅนเลยออฟโรด เจ้าของพื้นที่ ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 45 กิโลเมตร  สัมภาระเกลือกว่า 10 ตัน ก้อนเกลือแร่ หลายลัง รวมทั้งอุปกรณ์ยังชีพในป่า ของเจ้าหน้าที่ถูกลำเลียงขึ้นสู่รถออฟโรดทุกคัน มุ่งสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง บนยอดภูหลวงที่ตั้งตระหง่านอย่างยิ่งใหญ่ ข้างหน้า

หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำสาน คือ เป้าหมายของการเข้าพื้นที่สำหรับทำโป่งช้างเทียม ซึ่งบริเวณดังกล่าวเมื่อก่อนเป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ต้นน้ำจุดหนึ่ง ที่คอยรักษาป่าและสัตว์ป่าท้องถิ่นไว้ แต่ต่อมาถูกรบกวนโดยช้างเจ้าถิ่นตัวจริง ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ จึงย้ายสำนักงานลงไปยังหน่วยหลักด่านที่ 1 และ 2 แทน   หลังจากคณะเรามอบอุปกรณ์ยังชีพในป่าให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ทำการหน่วยแรกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ตีนเขาแล้ว เกลือป่นและก้อนเกลือแร่กว่า 10 ตันก็มุ่งสู่หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำสานทันที  ความสูง ชัน คดเคี้ยว คือ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของพื้นที่แห่งนี้ ถึงแม้จะเป็นเส้นทางลาดยางในช่วงแรก แต่ต้องอาศัยทักษะการควบคุมรถและสติในการขับขี่เป็นพิเศษ หากพลั้งเผลอมองนกมองไม้สองข้างทางจนเพลิน อาจลงไปนั่งนับกองขี้ช้างข้างทางแน่นอน เส้นทางคับแคบรถสวนทางกันยากลำบาก เกียร์ Slow ยัดกันตั้งแต่ต้นเนินกันเลยทีเดียว..

            ความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติบนที่สูง ผสมกับโชคชะตาแห่งทริปนี้ ทุ่งหญ้าคาปลิวสไว แห่งหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำสาน สถานที่แห่งนี้ผมเคยสัมผัสมาเมื่อ 10 ปีก่อน  บรรยากาศมันคนละเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ สายหมอก ไอละอองฝนเม็ดเล็กๆ เคลื่อนมาปะทะขบวนออฟโรด จนทุกคันต้องหยุดรถหยิบกล้องมาเก็บความประทับใจ พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าเต็มเหมือนนักโทษเดนตายที่กระหายอิสรภาพนับสิบปี สายหมอกระลอกแรกผ่านไป ระลอกใหม่เข้ามาแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง เหมือนเรายืนอยู่บนฟ้ายอดเมฆ ยังไงยังงั้นครับ  อะไรจะโชคดีปานนั้น นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้เดินหยิบสายหมอกเล่น กลางทุ่งหญ้าคาไกลสุดลูกหูลูกตา มีเงาทิวเขาและต้นไม้แซมเป็นแบ็คกราวนด์ เราเก็บและดื่มด่ำกับบรรยากาศนานพอสมควร จนลืมมองดูเวลา และความคาดเดาว่าหากฝนเทลงมาช่วงนี้ เกลือทั้งหมดคงละลายลงท้ายกระบะรถหมดแน่นอน

เรารวมพลกันสร้างโป่งเทียม ณ จุดนี้กันเกือบทั้งหมด เหลือบ้างนิดหน่อยให้เจ้าหน้าที่เอาไว้ลงสู่ป่าที่ลึกเข้าไปอีกในภายหลัง  จนถึงเที่ยงกว่า เป้าหมายต่อไปคือ การเดินทางท่องธรรมชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ขับรถออฟโรดแนะนำเส้นทางและควบคุมเส้นทางไปตามแนวกันไฟป่าเท่านั้น เราขับออฟโรดไปตามเส้นทางร่องต้นสน เพื่อไปยังผาสมเด็จ เพื่อตั้งแคมป์อาหารเที่ยงกัน ขบวนเคลื่อนผ่านทุ่งดอกหญ้าคาปลิวไสว เขียวขจีและขาวโพลนในบางช่วงที่สายหมอกเริ่มเคลื่อนปกคลุมอีกครั้ง ทัศนวิสัยระยะไม่เกิน 6 เมตร ได้แค่นั้นครับ นั่งจ้องไฟท้ายคันหน้าอย่างเดียว

 

ผาสมเด็จ ห่างจากจุดที่เราทำโป่งเทียมไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 2 กิโลเมตร ในยามนี้เราขับรถเลาะไปตามหน้าผา แต่ได้แต่มองดูหมอกขาวพล่ามัวในยามบ่ายโมง ส่วนเบื้องล่างเป็นแค่จินตนาการคู่อาหารเที่ยงของเราเท่านั้นครับ…เราทิ้งอารมณ์ชมสุนทรีย์แห่งสายหมอกอยู่ผาสมเด็จ กว่า 2 ชั่วโมง เราปรึกษาเส้นทางกับเจ้าหน้าที่ก่อนตัดสินใจย้อนกลับเส้นทางเดิม เพื่อไปยังจุดท่องเที่ยวรอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงแห่งนี้ครับ จังหวะ โอกาส และเวลา มักจะมาด้วยกันเสมอ เมื่อมีเสียงร้องตะโกนมาจากเบื้องหลัง “เส้นทางนี้สูงชัน ข้ามหลายห้วย ถ้าฝนตกลงมาตอนนี้ ก็สนุกนะ  ไปกันมั้ย” เหมือนเทวดาอยู่ใกล้ๆ ท่านได้ยินคำร้องขอ  สายฝนที่ความสูง 1,500 เมตร มันช่างสะใจเสียเหลือเกิน ฝนหนัก และตกนาน ประกอบกับกลิ่นสาบคนไปเตะจมูกกองทัพทากน้อยเข้า อะไรจะเกิดขึ้นขนาดชายอกสามศอกยังร้องจ๊าก ไม่เป็นท่า ในขณะที่รถที่ปรึกษาชมรม จมมิดล้ออยู่บ่อปลิงและทางเดินที่เต็มไปด้วยทากแห่งนั้น ใครหละจะกล้าลงไปกู้  และสู้กะเม็ดฝนที่ระห่ำลงมาตลอดชั่วโมงต่อจากนั้น  ทั้งฉุด ทั้งดึง ทั้งลาก ยังเอาเจ้ายักษ์ดำอีซุสุโรดิโอขึ้นจากหลุมไม่ได้  ต้องระดมวินซ์ทั้งหมด 4 ตัว กว่าจะรอดพ้นจากฝายแม้วจุดนี้ไปได้

            เหมือนตอกย้ำความกระหายของสายฝน เนินมรณะทอดยาว รอคอยหน่วยกล้าตาย ใครจะเป็นคันแรกที่จะเบิกร่อง ถางทาง สู่ยอดเนินที่ไร้จุดยึด ดึง ใดๆ ทั้งสิ้น  ดินลื่นหนังหมูเหนียวหนึบ ที่หลับใหลฝังอยู่ในร่องทางน้ำ ตั้งแต่ต้นถึงยอดเนินนานนับปี กลับตื่นฟื้นออกอาละวาดทันที ที่เสียงรถคันแรงของเสี่ยไอซ์ ดังกระหึ่มขึ้นพร้อมรบ ระยะทางเกือบ 200 เมตร กับความชันกว่า 40 องศา ก็เอาเขาไม่อยู่ แต่ต้องออกแรงปั่น ออกแรงบังคับคันเร่ง และพวงมาลัย ส่ายสะบัดสลัดโคลนออกไปนานหลายเทค กว่าจะหลุดขึ้นไปได้ และเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมสำหรับคันต่อไป  คันไหนแรง คันไหนวินซ์ คันไหนยอม ไม่มีใครบ่นสักคำ

นานเข้าเวลาชักไม่รอคอยเราแล้วรถเกือบ 20 คัน หากตะบี้ตะบันยัดไปเนินเดียว คงต้องนอนอยู่เป็นเพื่อนช้างป่าที่นี่เป็นแน่ เราเลยวางแผนที่จะแบ่งทีมออกเป็น สองทีม คันไหนพัง คันไหนยางไม่ได้ คันไหนประเมินรถตัวเองแล้วไม่ไหว ก็ย้อนกลับเส้นทางเดิมซึ่งความยากก็ไม่แพ้กันสักเท่าไหร่นัก โดยมี เลขาฯชมรม โจ กิตติพงษ์  คอยช่วยเหลืออยู่ กว่า 3 ชั่วโมงกับเนินเดียวที่เสียวได้ใจ กว่าจะหลุดไปได้ครบก็ปาเข้าไป เกือบ 2 ทุ่ม สมาชิกทั้งหมดก็เดินทางต่อไปยังที่พัก ที่หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ที่ห่างจากหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำสาน ไปอีกกว่า 40 นาที เส้นทางคดเคี้ยว ชันตลอดทาง แต่เป็นทางคอนกรีตเก่าๆ ที่ทำความเร็วได้ไม่มากนัก เราถึงที่พัก กว่าจะได้พักหลับนอนจริงๆ ก็ปาเข้าไป 6 ทุ่ม เพราะต้องทำความรู้จักกัน แนะนำตัวกัน ทั้งๆ ที่รู้จักกันมานานนับปี อิอิ…

หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ที่แห่งนี้ มีกุหลาบพันปีสีแดงที่ออกดอกสะพรั่งและสวยงามที่สุดในประเทศไทย ช่วงเวลาที่บานคือ ปลายเดือน ก.พ. – ต้นเดือน มี.ค. และยังมีกล้วยไม้ป่า พันธุ์พืชและสัตว์หายากอีกมากมาย รถทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่ไม่สามารถนำเต็นท์ไปกางได้ เนื่องจากมีช้างป่าอาศัยอยู่รอบบริเวณ อาจเป็นอันตราย สามารถใช้บริการบ้านพัก/เต็นท์ของหน่วยได้ ค่าบริการก็สามารถติดต่อที่หน่วยได้เลยครับ

            เช้าอันสดใสอีกวัน ไร้ซึ่งเม็ดฝน ฟ้าเปิดกระจ่างโล่ง  สมาชิกหลายคนยังหลับใหล อีกหลายคนท่องไพรเดินเท้าชมธรรมชาติ เพราะห่างจากจุดนี้ไปอีก 2 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก เป็นหน้าผา เรียกว่า ผาช้างผ่าน  ต้องเดินครับเพราะทางหน่วยฯ จัดไว้เป็นเส้นทางเดินเท้าชมธรรมชาติ ผ่านสถานีทวนสัญญาณโทรทัศน์ช่อง 7 สี  ผาช้างผ่าน เป็นผาสูงชันชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามจุดหนึ่งบนนั้นครับ ตื่นสัก ตี 5 เดินทางด้วยเท้า 2 นาทีก็ถึง สายลมพัดเย็นตลอดปีครับ ทะเลหมอกจางๆสลับทิวเขา ของจังหวัดเลย ใต้ดวงอาทิตย์สีเหลืองทอง ในตอนเช้าเป็นภาพที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง  ข้างบนนี้เส้นทางศึกษาธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์มากครับ มีทั้งแบบออฟโรดที่ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับเส้นทางและควบคุมเท่านั้น และการเดินเท้าในเขตพื้นที่ปลอดภัย ในช่วงเวลาที่กำหนด อุปสรรคในการเดินทางแบบออฟโรดบนนี้มีตลอดเส้นทาง แต่ความสวยงามก็มีตลอดเส้นทางเช่นเดียวกัน

ขอบคุณสมาชิกออฟโรดกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ครับที่สร้างสรรค์กิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ และยังมีความเชื่อร่วมกันว่า ยังมีอีกหลากหลายเส้นทางที่ยังท้าทายเราอยู่ และรอคอยให้เรามาเยือนอยู่เสมอๆ ขอบคุณ “ชมรมฅนเลยออฟโรด”

อ.นุ กาฬสินธุ์ออฟโรด เรื่อง/ภาพ

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save