จากไทยไปลาว เข้าเวียดนาม บนทางหมายเลข 12

จากต้นทางที่ไทย   ถ้าเราจะเข้าเขตลาว แล้วไปเวียดนาม ซึ่งนั่นหมายถึง การออกทะเลจีน ทางอ่าวตังเกี๋ย หรืออาจจะไปจนถึงจีนทางมลฑลกวางสีนั้น  ทุกวันนี้มี 2-3 เส้นทาง  ถ้าข้ามสะพานตรงมุกดาหาร ก็จะ  เป็นถนนหมายเลข 9   เป็นทางหลวงแผ่นดินที่ต่อจากสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ตรงกับด่านมุกดาหารของไทย ผ่านเมืองไกสอนพมวิหาร แขวงสะหวันนะเขตของลาว  ไปตัดกับเส้นทางหลักหมายเลข 13 ที่แยกเซโน และมุ่งสู่เขตเวียดนามที่ด่านลาวบาว จากลาวบาวในเวียดนาม  ก็จะมีถนนหมายเลข 9 ของเวียดนาม เข้าสู่ดองฮา  เว้ กวางตรี และท่าเรือดานังรู้จักและคุ้นเคยอย่างดี  จาก สปป.ลาวไปยังเวียดนามในสายนี้ ระยะทางแค่ 245 กิโลเมตร  ด้วยสภาพทางดีและไม่มีขึ้นเขาสูง  นักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะไปเว้ จึงนิยมเส้นทางนี้มาก

แต่ถ้าเป็นข้ามจากนครพนมไปยังเมืองท่าแขกของแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว จะมีทางแยก 2 ทาง ตรงวงเวียนหลัก 2 (ห่างจากด่านสะพานราว 15 กม.) วงเวียนนี้จะเป็นเหมือนศูนย์รวมทางที่จะไปที่อื่นๆ เช่นไปแยกเซโน(ที่จะไปเว้ จากมุกดาหาร) ในลาว แต่ที่น่าสนใจคือ จะเป็นต้นทางหมายเลข 8  ท่าแขก เข้าเมือง หลักซาว ผ่านด่านน้ำพาวของลาว  เข้าสู่เมืองวินห์ (จังหวัดเงอาน) ระยะทาง 331  กิโลเมตร ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปฮานอย เข้าหนานหนิง เข้ากุ้ยหลินของจีนได้เลย  ซึ่งผมไปลองเส้นทางสายนี้มาแล้ว

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม  ปี 2556  นายก อบจ. นครพนม  ดร.สมชอบ  นิติพจน์  พาคณะผู้บริหาร อบจ.นครพนมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูเส้นทางหมายเลข 12  ที่จะเชื่อมระหว่าง นครพนม-ท่าแขกใน สปป.ลาว ผ่านด่านนาพ้าว ของลาว เข้าด่านจอหลอ ของเวียตนาม แล้วมุ่งหน้าสู่เมืองดงเห่ย  จ.กว่างบิงห์ของเวียดนาม  โดยมุ่งเน้นในแง่ของการท่องเที่ยวเป็นหลัก  ทางเส้นนี้ก็จะข้ามโขงโดยสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นครพนม-ท่าแขกเหมือนกัน แต่จะไปแยกกับหมายเลข 8 ตรงวงเวียนหลัก 2 นั่นเอง  ระยะทางราว 310 กม. ทั้งสองเส้นทางนี้ (หมายเลข 8 และหมายเลข 12) แม้สภาพทางจะดีพอสมควร แต่จะมีช่วงที่ขึ้นภูเขาสูงใหญ่ เส้นทางคดเคี้ยวไปมาในเขตลาวและต่อช่วงเวียดนามนิดหน่อย  ทางค่อนข้างแคบ แต่ก็เป็นเส้นทางที่มีการค้าขาย ส่งสินค้าเข้าเวียดนาม เข้าจีนมานาน

ศักยภาพของการท่องเที่ยวของไทยตั้งแต่ต้นทางที่นครพนมนั้น เราคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะที่นี่เป็นเมืองปลายทาง เมืองริมน้ำโขงที่สงบ ร่มเย็น  บรรยกาศริมน้ำโขงน่าประทับใจไม่ได้ด้อยกว่าเชียงคาน ใครที่ชอบสงบๆ อาจจะถูกใจกว่าเชียงคานด้วยซ้ำไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ที่เรียงรายริมถนนเลียบแม่น้ำ ในยามค่ำคืน มีการแต่งไฟในวัดริมน้ำหลายแห่ง ยิ่งได้มองมาจากอีกฟากฝั่งโขง จะเห็นวัดฝั่งนครพนม โดดเด่นสวยงามอย่างมาก  นอกจากวัดพุทธ ยังมีโบสถ์คริสซ์นักบุญอันนา(หนองแสง) ไหนจะย่านอาคารเก่า อย่างจวนเข้าเมือง  หรือย่านตึกเก่า ร้านค้าโบราณย่านตลาดอินโดจีน แถวหอนาฬิกาที่สร้างโดยคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อพยพเข้ามาสมัยในประเทศเวียดนามมีการกวาดล้างจับกุมคนเวียดนามที่เข้ารีต  ทั้งคนเวียดนามที่นับถือคริสต์ที่หลบภัยมา หรือ เวียดนามที่หนีภัยสงคราม ก็เข้ามาตั้งรกรากลงหลักปักฐานที่นครพนมจนเป็นปึกแผ่น ไหนจะประเพณีไหลเรือไฟที่ขึ้นชื่อ หรือหาดทรายทองที่จะปรากฏเมื่อแม่น้ำโขงแห้งลงในหน้าแล้ง  ใครเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไหนว่ายิ่งใหญ่แล้ว มาดูคนนครพนมเขาเล่นกันในหาดทรายริมน้ำโขงเลย แล้วเดี๋ยวนี้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นอกจากจะเป็นสะพานที่เชื่อมสองแผ่นดินแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพราะถูกออกแบบและมีการตกแต่งที่สวยงาม  เพียงการนั่งชมความงามริมฝั่งน้ำโขงมองไปยังฝั่งลาวที่มีภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน ก็แลดูสวยงามและน่ามาเยือนนครพนมแล้ว

ส่วนในเมืองท่าแขกของลาวเอง นอกจากจะมีอาคารร้านค้าในสไตล์ฝรั่งเศสที่ยังคงตกทอดและหลงเหลือมาถึงปัจจุบันแล้ว ยังเป็นเหมือนเมืองคู่แฝดของนครพนม คนลาวคนไทยข้ามโขงไปมาเป็นว่าเล่น (เพราะด่านปิด 4 ทุ่ม) คนลาวข้ามไปกินข้าวเย็นฝั่งไทย ไปซื้อเครื่อง(ของ) และแวะค้างคืน คนไทยข้ามไปท่าแขกชมวิววัดฝั่งไทยยามค่ำคืน แล้วกลับมานอนนครพนม ไป-มาง่าย แต่เขามีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่ากำแพงยักษ์ เป็นแนวหินทรายที่เรียงต่อกันเป็นแนวยาว เป็นทางตรงขนานไปกับแม่น้ำโขง บางช่วงสูง บางช่วงเตี้ย  ดูคล้ายกำแพงจริงๆ แต่ไม่ใช่คนทำครับ ฟันธงได้เลย เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดาๆ แต่ถ้าออกนอกเมืองไปราว 7 กม. จะมีพระธาตุศรีโคตรบูรณ์ที่เป็นศูนย์รวมใจคนลาวมาอย่างช้านาน

เส้นทางหมายเลข 12 นี้สภาพทางค่อยข้างดี แต่แคบ ส่วนใหญ่จะผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน เวลาที่รถแล่นเข้าไปกลางดงภูเขาหินปูนน้อยใหญ่ จึงดูเหมือนเขาวงกตแต่ทิวทัศน์ก็กินขาดแล้ว แต่เมื่อทางเริ่มขึ้นสู่ภูเขาสูงที่ลาวเรียกเทือกเขาภูหลวง  ไทยเรียกเทือกเขาอันนาม  ส่วนเวียตนามเรียกเจิ่งเซินนั้น  จะเห็นความงามของภูเขาใหญ่ ที่ต้นไม้ยังคงอุดมสมบูรณ์ น้ำตกข้างทางมีให้เห็นตลอดเวลา  ถ้าเป็นในบ้านเราคงกลายเป็นที่เที่ยวริมทางไปแล้ว  ภูเขาสูงและดงป่าทึบนี้ เดิมเป็นเส้นทางเก่าสมัยสงคราม ที่อเมริกาเอาระเบิดมาทิ้งอย่างมหาศาลหวังทำลายเส้นทาง  ร่องรอยของหลุมดินที่โดยระเบิดยังปรากฏให้เห็นตามไร่ ตามนาสองฝั่งทาง และเพราะกับระเบิดที่ตกหล่นมีมากเกินไปทางสายใหม่ที่ขึ้นเขาสูงนี้จึงถูกตัดขึ้นมาใหม่ ทิ้งทางสายเก่าอยู่ในหุบเขาเบื้องล่างให้อานุภาพของกับระเบิดคุ้มครองป่าให้สมบูรณ์ต่อไป

ฝั่งลาวเป็นด่านนาพ้าว ฝั่งเวียดนามเป็นด่านจอหลอ แต่ทั้งสองด่านล้วนอยู่บนยอดเทือกเขาภูหลวงจึงเป็นทั้งด่านที่สูงที่สุดละทิวทัศน์สวยที่สุดด้วย รถสินค้าจากไทย ส่วนใหญ่เป็นผลไม้และผลิตผลทางการเกษตรจะต้องไปถ่ายของ ใส่รถเวียตนามลากต่อไปที่ด่านนี้  เพราะเวียดนามยังไม่ให้รถไทยเข้าไป

พอเข้าไปในแผ่นดินเวียตนามไม่นานก็จะเจอทางหลวงหมายเลข 13 ของเวียดนามที่ไปฮานอยทางเหนือ หรือจะลงไปเว้ในเขตภาคกลางได้  ส่วนเมืองดงเห่ย จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้เป็นอำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดกว่างบินห์ เป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากถูกทำลายไปสมัยสงครามแทบไม่เหลือหลอ สิ่งที่บ่งบอกว่าเคยเป็นเมืองเก่าคือ ประตูเมืองในศิลปะแบบจีน และโบสถ์คริสต์ที่นักบินอเมริกาเว้นไม่ทำลาย แต่กระนั้นก็พังไปซะมาก

เมืองดงเห่ยเป็นเมืองชายทะเล ฝั่งทะเลเปิดเป็นทะเลจีนใต้หาดทรายไม่ได้สวยงามนัก เหมือนที่ดานังหรือที่ฮาลองเบย์ คือทรายหยาบๆ สีหม่นๆ ประมาณหาดแถวประจวบของบ้านเรา แต่วิถีชีวิตของชุมชนประมง ที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน อาจเป็นเสน่ห์ของเมืองนี้ต่อไป

ที่นี่มีถ้ำที่ขึ้นชื่ออยู่สองแห่งคือ ถ้ำญาลอง ที่ได้มรดกโลกไปแล้ว เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม และถ้ำสวรรค์  อ.โบ๋วตรัด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ สวยงามไม่แพ้กัน ดงเห่ยอาจจะไม่ใช้จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในเวลานี้ แต่ด้วยความเป็นกึ่งกลางที่ไปอีก 150 กิโลก็ถึงเมืองเว้ หรือจะขึ้นเหนือไปฮานอย ดงเห่ยจึงอาจเป็นเมืองพักเหนื่อยของนักเดินทางที่ต้องการพักระหว่างเดินทางได้ไม่ยาก

เส้นทางหมายเลข 12 ในวันนี้ยังไม่ใช่เส้นทางที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวนัก และการเดินทางก็ยังไม่มีรถโดยสารวิ่งตลอดเส้นทาง  อาจยังต้องพึ่งพา บ.ทัวร์อยู่  แต่ด้วยศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ที่ยังดิบ ใหม่ ไร้การเสแสร้ง อีกไม่นาน เส้นทางนี้อาจจะคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีธรรมชาติจริงๆ ก็ได้

 

 

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save