ความงดงามบริสุทธิ์แห่งผืนป่าใหญ่และสายน้ำ บนเส้นทางบ้านตีนตก-ห้วยแม่พลู-โบสถ์สแตนเลส

“น้ำเอ่อ” เชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงรู้จักชื่อนี้กันดี เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของกาญจนบุรี ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์เมื่อปี พ.ศ.2523

ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่เขื่อนมีน้ำมาก น้ำก็จะเอ่อขึ้นมาถึงชุมชนหมู่บ้านในละแวกนี้ ที่จึงเป็นที่มาของชื่อ“บ้านน้ำเอ่อ” น้ำเอ่อตั้งอยู่ตอนบนค่อนมาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเขื่อนฯ และเป็นรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี , อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ถูกล้อมรอบด้วยผืนป่าของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, ป่าพุเตย และป่าห้วยขาแข้ง โดยมีลำน้ำแม่กลองและลำห้วยขาแข้ง ไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์

แม้ว่าน้ำเอ่อจะอยู่ในพื้นที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี แต่การเดินทางที่ใกล้ที่สุดก็ต้องไปทาง อ.ด่านช้าง ตามทางหลวงหมายเลข 333 ก่อนถึงด่านช้างประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปตามทางจนถึงแยกปลักประดู่ เลี้ยวขวาผ่านบ้านม่วงเฒ่า มุ่งหน้าสู่บ้านทุ่งมะกอกก็จะพบแยกเล็กๆ เป็นถนนลูกรัง ราว 4-5 กม. ก็จะพบด่านป่าไม้ฯเขากระต่ายตั้งอยู่ซ้ายมือ จากตรงนี้ไปน้ำเอ่ออีกประมาณ 16-17 กม. ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องใช้รถออฟโรดเป็นพาหนะในการเดินทางเข้าไปอย่างเดียว แต่ปัจจุบันถนนหนทางถูกปรับปรุงจนดีขึ้นระดับหนึ่ง ทำให้รถขับเคลื่อนสองล้อก็เดินทางเข้าไปได้ มีข้อแม้ว่าต้องไม่ใช่ช่วงฤดูฝนนะครับ

อุตส่าห์ร่ายยาวมาขนาดนี้ ก็เพื่อจะบอกท่านผู้อ่านว่า ทริปนี้ทางสมาชิกของยุทธหัตถีสุพรรณบุรีออฟโรด ชมรมออฟโรดที่มักคุ้นกันเป็นอย่างดีได้ไปเจอเส้นทางใหม่ ในพื้นที่ ต.เขาโจด แต่ค่อนมาทางใต้ของเขาเหล็ก หากนำแผ่นที่ของกาญจนบุรีมากาง จะเห็นว่ามันอยู่ในระนาบเดียวกับน้ำเอ่อ การเดินทางเข้าไปนั้นก็ต้องขับผ่านถนนอันคดเคี้ยวของเขาเหล็กไป จนถึงบ้านตีนตก เข้าสู่เส้นทางออฟโรด ข้ามลำห้วยมากกว่า 20 ห้วย รวมทั้งเนินเขาและโขดหิน ซอกแซกไปตามแนวป่าทีค่อนข้างแคบ วิวทิวทัศน์ของที่นี่งดงามไม่ต่างจากน้ำเอ่อเท่าไร นั่นคือ คำบอกเล่าของ จริพันธ์ แจ่มจ่าย ทัพหน้าที่เข้าไปสำรวจเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลแบบคร่าวๆ

แดดยามสายปลายรอยต่อของฤดูร้อนกับฤดูฝน มันช่างร้อนระอุสิ้นดี พยัพแดดเริ่มส่องประกายระยิบระยับรอยด้านตั้งแต่เช้า หลังจากขบวนรถของเราเดินทางมาถึงบ้านม่วงเฒ่า และจอดแวะจับจ่ายเสบียงอาหารจัดเตรียมเดินทางเข้าป่า ซึ่งงวดนี้ทางยุทธหัตถีฯ เดินทางมากันมากถึง 12 คัน นำทีมโดย ประสิทธิ์ ดีศิลปะกิจ ประธานชมรมฯ พร้อมสมาชิกเก่าแก่เกือบครบทีม ถือเป็นอีกหนึ่งทริปใหญ่ของชมรมดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี

ครั้นจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เพื่อดำรงชีพในป่าเรียบร้อย ก็ออกเดินทางจากบ้านม่วงเฒ่า ผ่านทางโรงพยาบาลสถานพระบารมี ไปทางด้านถ้ำธารลอดใหญ่ ต่อด้วยการเลี้ยวขวาขึ้นสู่เขาเหล็ก มุ่งหน้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ที่ ศร.3 (บ้านกลาง) จุดหมายแรก เพื่อนำปูนซีเมนต์ที่สมาชิกจัดซื้อมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งแจ้งความประสงค์ในการขอเข้าในพื้นที่ เนื่องจากเส้นทางนี้ไม่อนุญาตให้นำรถเข้าไปโดยพลการ พร้อมกันนี้ก็แวะรับคนนำทาง คือ ผู้ใหญ่บ้านตีนตก เจริญสุข ลำไยรุ่งเรือง และทีมงานของเขา

กว่าจะได้ขยับตัวออกจากหน่วยฯเวลาก็เริ่มเลื่อนไหลเข้าไปเกือบๆ เที่ยงวัน โดยช่วงแรกนั้นหลังออกจากหน่วยฯบ้านกลางมาก็เป็นทางลาดยางเกือบๆ 10 กิโลเมตร ผ่านบ้านตีนตก มุ่งหน้าสู่บ้านนาสาน ก่อนเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางออฟโรดผ่านเรือกสวนของชาวบ้าน ชั่วอึดใจเดียวก็เข้าสู่เส้นทางออฟโรด ด้วยการข้ามลำห้วยแรก ซึ่งเป็นห้วยเล็กๆ ลัดเลาะไปตามป่าไผ่ ก่อนจะเจอลำห้วยใหญ่ซึ่งช่วงนี้น้ำยังไม่เยอะเท่าไรนัก แค่ค่อนๆ ล้อของยางขนาด 35 นิ้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การข้ามลำห้วย แต่เป็นการปีนป่ายสู่ตลิ่งอันลาดชันของฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นดินป่าไผ่และค่อนข้างลาดชันเนื่องจากเป็นทางขึ้นสู่ยอดเขา

รถที่เพิ่งขึ้นมาจากน้ำใหม่ๆ นำน้ำมาชโลมดินให้เปียกชื้นและลื่น จนล้อปั่นหมุนฟรีอยู่กับที่ ต้องให้รถคันเก่งที่อาวุธครบมือของ อนันต์ ตั้งเจริญชัย ขึ้นไปตั้งหลักรอวินช์ เราใช้เวลาอยู่พักใหญ่ก็ผ่านไปได้หมดทั้งขบวน

เส้นทางตีนตก-ห้วยแม่พลู-โบสถ์สแตนเลส นั้น จะขึ้นๆ ลงๆ วกไปเวียนมาระหว่างเนินเขา ตัดลงสู่ลำห้วยแม่พลู อันมีต้นน้ำมาจากเขาเหล็กและเขาโจด ห้วยแม่พลูแห่งนี้จะไหลลัดเลาะเป็นงูเลื้อยผ่านช่องเขาน้อย-ใหญ่ โดยมีปลายทางอยู่ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ นอกจากลำห้วย และเนินชันแล้ว อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับเหล่าสมาชิก รวมทั้งริดรอนเวลาในการเดินทางพอสมควร นั่นก็คือ โขดหินที่มีดักอยู่ตามรายทาง และนั่นก็ส่งผลให้รถ TOYOTA HILUX TIGER 4 ประตู ของ บรรหาร จักษุวัชร ถึงกับยางแท่นเครื่องขาดในช่วงกึ่งกลางทาง สุดท้ายต้องจอดรถแอบเอาไว้ข้างทาง โยกย้ายของเปลี่ยนรถกลางคันติดไปกับรถของสมาชิกคันอื่น

ยิ่งลึกเข้าไปในป่าด้านใน สภาพป่าไผ่แปรเปลี่ยนเป็นพวกเบญจพรรณ สลับกับป่าเต็งรังที่ขึ้นสลับอยู่ตามยอดเขา ซึ่งดูแล้วคล้ายๆ กับป่าของภาคอีสาน แต่ถ้าดูสภาพป่าโดยรวมในเส้นทางนี้ น่าจะเป็นป่าที่เกิดขึ้นใหม่หลังผ่านการสัมปทานไม้มาแล้ว

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ เจริญสุข  ลำไยรุ่งเรือง ผู้ใหญ่บ้านตีนตก เล่าให้ฟังว่า สภาพป่าเมื่อผมเด็กๆ สมบูรณ์มาก จน บริษัท กาญจนบุรีทำไม้  จำกัด เข้ามาสัมปทานไม้ สภาพภาพก็เปลี่ยนไปพอสมควร แต่ก็ยังไม่เท่ากับช่วงที่ปิดป่าไปแล้ว มีการลักลอบตัดไม้กันมาก จนกระทั่งมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ป่าก็เริ่มฟื้นตัว แม้จะไม่เหมือนเดิม ป่าบางส่วนก็ถูกจัดสรรสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎร หลังจากมีการสร้างเขื่อนเจ้าเณร หรือ ศรีนครินทร์ โดยเฉพาะที่ ต.ด่านแม่แฉลบ  ต.หนองเป็ด  และต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์

เส้นทางที่เรากำลังเดินทางไปนี้ เป็นเส้นทางขนไม้เก่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเรือนแพด้านใน ใช้สัญจรไป-มา กับโลกภายนอก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นเอง”

มานั่งคิดๆ ดู ผมว่าสถานการณ์ป่าไม้ในเมืองไทยเรานั้น ถูกทำลายมากที่สุดกลับไม่ใช่อยู่ในช่วงของการสัมปทานไม้ เราปิดสัมปทานในปี พ.ศ. 2522 คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด(แสดงว่าไม่ได้ปิดแบบ 100%) แต่ปี พ.ศ. 2527 ก็มีมติเปิดป่าสัมปทานต่อในบางส่วน เป็นพื้นที่ 24,063 ตารางกิโลเมตร รวมกับของเดิมที่ยังเปิดอยู่ 130,815 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 25.5 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนป่าที่เหลืออยู่ร้อยละ 3.5 ของประเทศ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งส่วนนี้ไม่รวมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และป่าต้นลำธาร ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี่แหละครับ คือ ตัวการปัญหาใหญ่ที่ทำให้ป่าไม้ของไทยเราลดลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะมันไม่ใช่แค่การสัมปทานไม้อย่างเดียว ยังมีการลักลอบตัดไม้ การทำไร่เลื่อนลอย หรือยึดครองที่ดิน ล้วนเป็นปัญหาที่หมักหมมมาจนถึงปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น

สำหรับระยะทางออฟโรดคร่าวๆ ของเส้นทางนี้ประมาณ 18 กิโลเมตร กับการข้ามลำห้วยเกือบๆ 20 ครั้ง ผ่านเนินเขาลูกน้อยใหญ่ และโขดหินที่ดักอยู่เป็นช่วงๆ ก่อนพลบค่ำขบวนของเราทั้งหมด ก็เดินทางทะลุถึงบริเวณจุดสิ้นสุดของเส้นทาง บริเวณน้ำเอ่อ(คนละจุดกับย้านน้ำเอ่อ) หรือจุดที่ห้วยแม่พลูไหลลงมาสมทบกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ บัดนี้ทั้งคณะตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของกำแพงแห่งขุนเขาทะมึน เบื้องหน้าเวิ้งน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาล ถูกประตูธรรมชาติของโขดเขาบดบังเอาไว้ มีเพียงช่องเล็กๆ ให้สายน้ำและเรือแล่นผ่านไปได้

เราพยายามตั้งแคมป์ให้ใกล้ริมน้ำมากที่สุด แต่เมื่อนำรถลงไปใกล้ริมน้ำ ปรากฏว่าจมมิดทั้ง 4 ล้อ ต้องวินช์รถกันยาว เนื่องจากพื้นบนนั้นดูแข็งแต่ด้านล่างเป็นน้ำซับ แถมวินช์คันเดียวไม่ยอมขึ้น ต้องใช้รถตงหลังอีกคัน สนุกสนานก่อนทานอาหารเย็น

บรรยากาศยามเย็นหลังอาทิตย์ลาลับฟ้าไปแล้ว ถือว่าค่อนข้างดีเอามากๆ เสียอย่างเดียวมันเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้หลบแดดหลบฝน สายลมเย็นๆ พัดผ่านช่องเขาสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์และเย็นสบาย ต่างแต่ว่าตกดึกอากาศกลับร้อนอบอ้าว เนื่องจากฝนที่ตั้งเต้ารอบด้าน ฟ้าที่เคยกระจ่างดาวช่วงหัวค่ำ เริ่มถูกบดบังจนมืดสนิท ทั้งๆ ที่คืนนั้นเป็นวันพระจันทร์ยิ้ม และปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งที่เรากังวลก็คือ หากว่าฝนตกหนักติดต่อกันนานๆ เราอาจจะเจอกับน้ำป่าอาจจะหลากลงมาจากด้านบน เนื่องจากเราตั้งแคมป์อยู่ใกล้กับทางน้ำมาก

เป็นความโชคดีที่เมื่อคืนฝนไม่ตก อากาศยามเช้าค่อนข้างสดใสและเย็นสบาย หลังเสร็จภารกิจในการทำธุระส่วนตัวและทานอาหารเช้ากันเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเวลาเดียวกับที่เรือซึ่งทางชมรมประสานเอาไว้ก็มารับ เพื่อไปเที่ยวชมโบสถ์สแตนเลส เป้าหมายหลักของทริปนี้

สายลมเย็นและละอองน้ำที่ปะทะตัวเราจากเรือที่วิ่งน่าจะช่วยให้ทุกคนเบิกบาน ทิวทัศน์โดยรอบเป็นขุนเขาสูงใหญ่ทอดตัวเรียงรายดั่งกำแพง ปกคลุมไปด้วยไม้น้อยใหญ่แน่นขนัด ตามซอกเวิ้งอ่าวน้อยใหญ่จะพบแพชาวบ้านอยู่เป็นระยะ โดยมีเรือเป็นพาหนะในการเดินทางติดต่อสู่โลกภายนอก และที่สำคัญเกือบตลอดริมน้ำ เราสามารถพบเห็นฝูงนกยูงลงมาหากินอยู่ตามริมน้ำหลายฝูง จนเผลอคิดไปว่าเป็นนกของชาวบ้านที่เลี้ยงเอาไว้ เนื่องจากค่อนข้างเชื่อง หรือมันอาจจะชินกับเรือของชาวบ้าน แม้เรือของเราจะแล่นเข้าไปใกล้ ก็ไม่ตกใจตื่น แต่จะค่อยๆ เดินเข้าป่าหลบไป

ใช้เวลานั่งเรือไม่ถึง 20 นาที เพียงพ้นปากอ่าวของในหุบเขาสู่เวิ้งน้ำอันกว้างไพศาล เราก็มองเห็นวัดปากลำขาแข้ง ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ วัดแห่งนี้ก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2484 โดยการริเริ่มของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกในการที่จะประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ เช่น ทำบุญเข้าพรรษา ทำบุญออกพรรษา หรืองานบุญต่างๆ จึงได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างวัดนี้ขึ้นมา รวมทั้งสร้างกุฏิสำหรับให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม และเป็นที่พักสำหรับพระภิกษุผู้เดินทางมาเผยแผ่ธรรม ปัจจุบันมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาตลอดมา และเมื่อมีการสร้างโบสถ์สแตนเลส และพระพุทธรูปแสตนเลสถือเป็นหนึ่งเดียวในโลกขึ้นที่นี่ ทำให้วัดปากลำห้วยขาแข้งกลายเป็นอีกหนึ่ง Unseen เมืองไทย ที่ใครๆ ก็อยากเข้าไปเยือนสักครั้ง

ต้องบอกว่าเส้นทางบ้านตีนตก-ห้วยแม่พลู-โบสถ์สแตนเลส ถือว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวในสไตล์ออฟโรดแห่งใหม่ ที่มีความน่าสนใจมากที่สุดเส้นทางหนึ่งของภาคกลาง ทางออฟโรดไม่ได้โหดร้ายทารุณสะใจชาวฮาร์ดคอร์มากนัก แต่ต้องใช้ทักษะการขับขี่มากพอสมควร ธรรมชาติสองข้างทางที่รถเคลื่อนผ่าน เต็มไปด้วยความร่มรื่นของมวลไม้น้อยใหญ่ รวมทั้งยังเป็นโรงอาหารชั้นดีของชาวบ้านในการหาของป่า ที่มีทั้ง ผักหวาน เห็ดนานาชนิด  รวมทั้งปลาในลำห้วยและอ่างเก็บน้ำด้านล่าง

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกดลบันดาลมาจากธรรมชาติอันยิ่งใหญ่แทบทั้งสิ้น และผืนป่า ก็คือ มารดาแห่งสรรพสิ่งบนโลกใบนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นพวกเราชาวออฟโรดในฐานะแขกผู้มาเยือน จึงควรให้ความเคารพสถานที่ ในฐานะเจ้าบ้าน รวมทั้งเคารพในจิตสำนึกในการรักธรรมชาติของตัวเราเองด้วย

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save