การปรับโครงสร้าง อัตราภาษีรถยนต์รายปีแบบใหม่ เริ่มบังคับใช้ในปี 2559
กองบรรณาธิการ…เรื่อง/ภาพ
ใกล้เข้าไปทุกที กับอัตราการเก็บภาษีรายปีรถยนต์ที่ใช้วิธีเก็บแบบใหม่ โดยรายละเอียดในเรื่องนี้ทางกรมสรรพสามิตได้เปิดเผยโครงสร้างการเก็บภาษีรถยนต์ใหม่ โดยใช้วิธีคำนวนอัตราภาษีตามระดับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากไอเสียของรถยนต์แต่ละคันที่ปล่อยออกมา เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยส่งผลให้ราคาขายรถใหม่ มีทั้งปรับเพิ่มขึ้นและลดลง โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559
จากเวทีเสวนาเรื่อง “ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามค่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไร” จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งบรรดานักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนสายยานยนต์ได้ให้ความสนใจติดตามเป็นอย่างมาก จากประเด็นที่พูดคุย ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการซื้อรถควรศึกษารายละเอียด และทำความเข้าใจกับอัตราการเก็บภาษีรถยนต์แบบใหม่ ก่อนจะมีการปรับราคาครั้งใหญ่ในเดือนมกราคม 2559
หลักเกณฑ์ในการปรับโครงสร้างอัตราการเก็บภาษีใหม่ คิดตามปริมาณค่าไอเสีย…
เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องภาษีรถยนต์ใหม่ของบ้านเรา ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว ที่มีการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากนวัตกรรมในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การปรับโครงสร้างภาษีจึงเป็นตัวกำหนดให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในบ้านเราต้องพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันประชาคมโลก นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ให้รายละเอียดว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ปี 2559 จะคิดอัตราตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 เป็นหลัก แตกต่างจากสองครั้งแรกที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งในครั้งนี้ยังคงแยกประเภทรถเหมือนเดิม และจัดเก็บในอัตราภาษีสูงสุดที่ 50% เช่นเดิม เพียงแต่เพิ่มหลักเกณฑ์การปล่อยก๊าซ CO2 มาเป็นตัวกำหนดอัตราภาษี หากนำตัวโครงสร้างภาษีเก่าและใหม่มาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่าโครงสร้างภาษีแบบเก่าจะมีความไม่เป็นธรรม ระหว่างภาษีเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยก๊าซ CO2 ค่อนข้างสูง และเครื่องยนต์ไฮบริด รวมทั้งรถอีโคคาร์ รถที่ใช้แก๊สโซฮอล์ E20 E85 ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ในเกณฑ์ต่ำ แต่กลับเสียภาษีในอัตราที่เท่ากัน การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการอุดช่องโห่วในเรื่องความไม่เป็นธรรมของภาษีรถยนต์ใหม่ ถ้ามองจากโครงสร้างภาษีใหม่ จะเห็นได้ว่ามีทั้งปรับขึ้นและลดลง ขึ้นอยู่กับว่ารถคันนั้นใช้เทคโนโลยีแบบไหน มีการปล่อยมลพิษน้อยหรือไม่ ถ้าทำได้ตามเกณฑ์ มีโอกาสที่จะเสียภาษีลดลงถึง 20% ขณะเดียวกันก็มีรถที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้นแต่อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ส่วนรถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ได้ตามมาตรฐาน จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างระบบเบรก ABS และระบบควบคุมการทรงตัว VSC เพื่อเป็นการบีบบังคับให้ผู้ผลิตคิดค้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้คนไทยได้ใช้รถที่มีสมรรถนะดีขึ้น มีความปลอดภัยมากกว่าเดิม ที่สำคัญ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลของการปรับอัตราจัดเก็บภาษีใหม่
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลกระทบทั้งดีและเสียตามมา โครงสร้างภาษีรถยนต์ 2559 ก็เช่นกัน นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ออกมาเปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะมีผลทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเดินหน้าและพัฒนาต่อไป ซึ่งเป็นผลดีแน่นอน ประเด็นสำคัญยังคงอยู่ที่ทุกวันนี้ภาษีรถเก่ากับรถใหม่ยังคงสวนทางกันอยู่ จะทำอย่างไรให้ภาษีรถเก่ากับรถใหม่เดินไปในทิศทางเดียวกัน ตรงนี้คงต้องมาหารือร่วมกัน และเชื่อว่าโครงสร้างภาษีใหม่จะเป็นแรงผลักดัน กระตุ้นให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่มีทั้งเทคโนโลยีและคุณภาพที่ดีกว่าเดิม ออกมาให้ผู้บริโภคได้ใช้งาน มาดูที่ภาคเอกชนกันบ้าง นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ต้องยอมรับว่ายังมีรถบางกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างภาษีรูปแบบใหม่ได้ แน่นอนว่า ภาระตรงนี้จะต้องตกอยู่กับบริษัทรถยนต์ ซึ่งแต่ละบริษัทคงต้องบริหารจัดการเอาเองว่า จะทำอย่างไรกับปัญหาตรงนี้ อาจจะต้องปรับปรุงในรูปแบบการไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยู่ดี อีกทั้งปัจจัยเรื่องราคา ที่เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายสูงขึ้นตามไปด้วย รถบางรุ่นราคาสูงขึ้นกว่าแสนบาท ในมุมมองผู้บริโภคถือว่าสูงมาก ถ้าราคาเพิ่มสูงขึ้น แล้วผู้บริโภคยอมรับได้ ตรงนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหา แต่ถ้าราคาสูง แล้วไม่มีคนซื้อ จะเกิดปัญหาตามมาทันที
รัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ต้องร่วมมือกัน
ภาครัฐให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวตั้งแต่เริ่มพูดคุย จนมาถึงวันที่เริ่มปรับโครงสร้างภาษี นานถึง 5 ปี และรัฐบาลเองก็พยายามชี้นำให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใส่ความปลอดภัยมาให้ตัวรถมากขึ้น อีกทั้งทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน ผลิตรถให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนายวัลลภ เตียศิริ อดีตผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การผลิตรถในปัจจุบันนั้น จะถูกควบคุมด้วยข้อกำหนดมาตรฐาน 2 ข้อด้วยกัน คือ 1. เรื่องการปล่อยมลภาวะ และ 2. อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ฉะนั้น การผลิตรถในปัจจุบัน จะแข่งขันกันด้วยการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 รถสมัยใหม่เครื่องยนต์จะเล็กลงแต่ยังคงสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมไว้เหมือนเดิม การปรับโครงสร้างภาษีโดยใช้การปล่อยก๊าซ CO2 มาเป็นเกณฑ์ จึงเหมือนเป็นการเดินตามแนวทางที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องร่วมมือกับทั้งภาคเอกชนและผู้ประกอบการ สนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 ในปริมาณต่ำ เพื่อตอบสนองตลาดใหญ่และเป็นไปตามทิศทางโลกสากล
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นปีหน้า 1 มกราคม 2559 ราคารถยนต์จะปรับขึ้นเกือบทั้งหมด ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เช่นกัน เพราะมาตรฐานรถยนต์หนึ่งคันจะถูกบีบบังคับด้วยระบบ Sustainable Mobility นั่นคือรถยนต์หนึ่งคันต้อง “สะอาด ประหยัด และปลอดภัย” แม้ราคาจะสูงขึ้น แต่ประชาชนทุกคนจะได้รถที่มีสมรรถนะดีขึ้น ความปลอดภัยสูงขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของเมืองไทยก้าวไกล และอยู่ในแถวหน้าของประชาคมโลกต่อไป…
รายละเอียดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่มีผลบังคับใช้ต้นปี 59 แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มรถยนต์ดังนี้
1. รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 35% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 40% (เดิมจัดเก็บภาษี 30%)
2. รถยนต์นั่งประเภทอี 85 และรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 35% (เดิมจัดเก็บภาษี 30%)
3. รถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 10%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 10%
– ปล่อยก๊าซเกิน 100-150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 20%
– ปล่อยก๊าซเกิน 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%
4. รถยนต์ Eco Car (เดิมจัดเก็บภาษี 17%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร และใช้น้ำมัน E85 ได้ จัดเก็บภาษี 12%
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 14%
– ปล่อยก๊าซเกิน 100-120 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 17%
5. รถยนต์กระบะที่ไม่มีพื้นใส่สัมภาระด้านหลังคนขับ มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 3%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 3%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 5%
6. รถยนต์กระบะที่มีพื้นใส่สัมภาระด้านหลังคนขับ มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 3%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 5%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 7%
7. รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (ดับเบิ้ลแคป) มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 12%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 12%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 15%
8. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 20%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25%
– ปล่อยก๊าซฯเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.